ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “ไข้เลือดออก” ระบาดหนัก 4 จ.อีสานใต้ พบผู้ป่วยแล้ว 1,600 ราย ตาย 3 ราย บุรีรัมย์แชมป์ ขณะโคราชยอดป่วยสูงสุด แนะประชาชนเร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายพาหะนำโรค เตือนห้ามซื้อยาแอสไพรินมากินเอง ด้านเทศบาลนครโคราชเร่งให้ความรู้ อสม.เพื่อป้องกันการระบาด หลังพบผู้ป่วยแล้วกว่า 40 รายใน 79 ชุมชน
วันนี้ (3 มิ.ย.) นพ.ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตสุขภาพที่ 9 รวม 4 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง คือ นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ และ จ.ชัยภูมิ ว่าสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรครายงานว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 30 พ.ค. 2559 เพียง 5 เดือน พบผู้ป่วยไข้เลือดออกรวมทั้งสิ้น 1,600 ราย มีผู้เสียชีวิต 3 ราย
แยกเป็น จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 538 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 281 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 603 ราย จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 178 ราย
เปรียบเทียบกับข้อมูลผู้ป่วยในปี 2558 ที่ผ่านมา พบว่าเขตสุขภาพที่ 9 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกรวมทั้งสิ้น 15,166 ราย มีผู้เสียชีวิต 19 ราย แยกเป็นรายจังหวัดได้ดังนี้ จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 7,294 ราย มีผู้เสียชีวิต 13 ราย จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย1,845 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 3,006 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 3,021 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย
สำหรับโรคไข้เลือดออกเป็นได้ในทุกกลุ่มอายุ โดยพบมากในช่วงอายุ 5-10 ปี อาการส่วนใหญ่มักจะมีไข้สูงลอย ไข้ไม่ลด นอนซม เด็กโตจะปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา พบได้ในผู้ใหญ่เช่นเดียวกัน ในระยะไข้นี้บางรายอาจมีอาการเบื่ออาหาร อาเจียน ปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งในระยะแรกจะปวดทั่วๆ ไป และอาจปวดที่ชายโครงขวา หากมีไข้สูงให้กินยาพาราเซตามอลลดไข้ อย่าซื้อยาแก้ปวดที่มีระคายเคืองกระเพาะอาหาร เช่น แอสไพริน หรือไอบูโพรเฟน เพราะเสี่ยงเกิดเลือดออกในกระเพาะอาหาร อันตรายถึงเสียชีวิต
แต่หากกินยาแล้วไข้ไม่ลด อาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ขอให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการรักษาต่อเนื่องให้พ้นระยะอันตราย และในช่วงที่ไข้เริ่มลดขอให้สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพราะมีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะช็อกได้ โดยผู้ป่วยจะซึมลง อ่อนเพลีย อาจมีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน หรือถ่ายอุจจาระสีดำ ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เน้นการป้องกันโรค โดยการกำจัดยุงลายมากกว่าการเจ็บป่วยแล้วไปรักษา โดยขอความร่วมมือให้ประชาชนและทุกภาคส่วนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เพื่อลดจำนวนยุงลายให้มากที่สุด ตามมาตรการ 3 เก็บ ได้แก่ เก็บบ้านให้โล่ง อากาศปลอดโปร่งไม่ให้ยุงเกาะพัก เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้มีที่เพาะพันธุ์ยุง และเก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทำต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน ศาสนสถาน สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก โรงพยาบาล รวมทั้งการกำจัดยุงลายตัวเต็มวัยภายในบ้าน ร่วมกับการป้องกันไม่ให้ยุงกัด ใช้ยาทากันยุง นอนกางมุ้งจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
วันเดียวกันนี้ (3 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมสำนักการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมชั้น 3 เทศบาลนครนครราชสีมา ได้เรียกประชุม อสม. และผู้นำชุมชนทั้ง 79 ชุมชนและหน่วยบริการสาธารณสุขในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา 15 แห่ง ประชุมเตรียมความพร้อมในการควบคุมโรคไข้เลือดออกตามมาตรการ 3-3-1 โดยมีนายพงษ์เลิศ สุภัทรวณิชย์ รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมาเป็นประธาน
ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมของเครือข่ายป้องกันควบคุมโรคติดต่อให้สามารถควบคุมโรคไข้เลือดออกได้ตามมาตรการที่กำหนด รวมถึงเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องโรคไข้เลือดออกและป้องกันโรคแก่ประชาชนทั่วไป สร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมในการควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลายแก่ประชาชนทั่วไป
สำหรับโรคไข้เลือดออก ในระยะหลังจะพบว่ามีการระบาดถี่ขึ้น ซึ่งปกติจะพบมีการระบาดปีเว้น 1-2 ปี แต่ช่วงหลังจะพบการระบาด 2 ปีติดต่อกัน นอกจากนี้ความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกมีมากขึ้น ซึ่งปี 2558 พบผู้ป่วย 922 ราย แต่ไม่มีผู้ป่วยไข้เลือดออกเสียชีวิต และในปี 2559 ตั้งแต่ 1 ม.ค.-พ.ค. 2559 พบผู้ป่วยแล้ว 43 ราย