ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ไข้เลือดออกอีสานใต้ป่วยพุ่งกว่า 3,000 ราย ตายแล้ว 3 ราย บุรีรัมย์ตายมากสุด ยัน “โรคซิกา” ยังไม่พบระบาดในพื้นที่ สั่งเฝ้าระวังโดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์กลุ่มเสี่ยงน่าห่วงสุด แนะกำจัดลูกน้ำยุงลายพาหะนำโรค เก็บกวาดบ้านให้สะอาด
วันนี้ (19 ก.ย.) นพ.ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตบริการสุขภาพที่ 9 (จ.บุรีรัมย์ ชัยภูมิ นครราชสีมา สุรินทร์) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 สิงหาคม 2559 พบผู้ป่วยแล้วจำนวน 3,007 ราย มีผู้เสียชีวิต 3 ราย โดย จ.บุรีรัมย์ มีผู้เสียชีวิตมากสุดคือ 2 ราย มีผู้ป่วย 446 ราย รองลงมาคือ จ.นครราชสีมา มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วย 995 ราย จ.ชัยภูมิ พบผู้ป่วย 401 ราย ส่วนจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ จ.สุรินทร์ พบผู้ป่วย 1,165 ราย
สำหรับโรคไข้เลือดออกเป็นได้ในทุกกลุ่มอายุ พบมากในช่วงอายุ 5-10 ปี อาการของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก คือ หลังจากถูกยุงมีเชื้อกัดประมาณ 5-8 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอย บางรายมีจุดเลือดสีแดงขึ้นตามลำตัว แขน ขา อาจมีเลือดกำเดาออก ซึ่งในระยะแรกจะปวดทั่วๆ ไป และอาจปวดที่ชายโครงขวา หากมีไข้สูง ให้กินยาพาราเซตามอลลดไข้ อย่าซื้อยาแก้ปวดที่มีระคายเคืองกระเพาะอาหาร เช่น แอสไพริน หรือไอบูโพรเฟน เพราะเสี่ยงเลือดออกในกระเพาะอาหารอันตรายถึงเสียชีวิต แต่หากกินยาแล้วไข้ไม่ลด อาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ขอให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการรักษาต่อเนื่อง
การป้องกันโรคไข้เลือดออกยังไม่มีวัคซีนและยังไม่มียารักษาเฉพาะ จะเป็นการรักษาตามอาการ และการกำจัดยุงลายนั้นเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ดีกว่ารอให้เจ็บป่วยแล้วไปรักษา ขอความร่วมมือให้ประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เพื่อลดจำนวนยุงลายให้มากที่สุด ตามมาตรการ 3 เก็บ ได้แก่ 1. เก็บบ้านให้โล่ง อากาศปลอดโปร่งไม่ให้ยุงเกาะพัก 2. เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้มีที่เพาะพันธุ์ยุง 3. เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทำต่อเนื่องทุกสัปดาห์ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน ศาสนสถาน สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก โรงพยาบาล รวมทั้งการกำจัดยุงลายตัวเต็มวัยภายในบ้าน ร่วมกับการป้องกันไม่ให้ยุงกัด ใช้ยาทากันยุง นอนกางมุ้งจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
ส่วนสถานการณ์โรคซิกาในพื้นที่รับผิดชอบทั้ง 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง จนถึงขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยแต่อย่างใด โดยอาการของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ป่วยแล้วหายได้เอง อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ อาการเหล่านี้ทุเลาลงได้เองภายในเวลา 2-7 วัน จะมีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ ทำให้ทารกที่เกิดมามีศีรษะเล็กตั้งแต่แรกเกิด โดยทั่วไปหญิงตั้งครรภ์หากติดเชื้อต่างๆ เช่น หัดเยอรมัน และไข้ขี้แมว เป็นต้น อาจส่งผลถึงลูกในครรภ์ได้เช่นกัน
“ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์ต้องระมัดระวังมากกว่าคนปกติในด้านสุขอนามัย ไม่คลุกคลีคนป่วย สุนัขและแมวจรจัด ป้องกันไม่ให้ยุงกัด และฝากครรภ์ตามกำหนด” นพ.ธีรวัฒน์กล่าวในตอนท้าย