xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.สุราษฎร์ฯ ทันยุค จัดรณรงค์ป้องกันโรคติดเชื้อซิกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุราษฎร์ธานี - สสจ.สุราษฎร์ธานี ร่วมกับอำเภอเมือง และภาคเอกชน เร่งรณรงค์ และป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา และไข้เลือดออกที่ยุงลายเป็นพาหะนำเชื้อ โดยเฉพาะสตรีที่มีครรภ์หลังจากมีการระบาดไปทั่วประเทศ

เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (16 ก.ย.) ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางกุ้ง อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายประเวศ ไทยประยูร นายอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี นายธีระกิจ หวังมุธิตากุล นายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานี ร่วมกันนำขบวน อสม. ขบวนจักรยานยนต์ จำนวนกว่า 200 คน ที่แต่งตัวเป็นยุงลายและป้ายข้อความต่างๆ ออกเดิน-ปั่นไปตามถนนสายต่างๆ ในพื้นที่ตำบลบางกุ้ง เพื่อรณรงค์ และป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา และไข้เลือดออกที่ยุงลายเป็นพาหะนำเชื้อเชื้อไวรัสซิกา และไข้เลือดออกมาระบาดสู่คน นอกจากนั้น กลุ่ม อสม.ในพื้นที่ตำบลบางกุ้ง ยังจัดกิจกรรมแสดงเต้นประกอบเพลงในการที่กำจัดยุงอีกด้วย สร้างความสนใจแก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก

นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ขณะนี้มีการระบาดของไข้ซิกา โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ เกือบ 20 ราย ส่วนภาคใต้พบที่จังหวัดนครศรีธรรมราช 1 ราย ในส่วนพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ยังไม่พบ แต่เนื่องจากพื้นที่ติดต่อกันและมีการระบาดของยุงลายเกือบทุกภาคทั้งประเทศ ในส่วนของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่ต้องการให้เกิดโรคไวรัสซิกาเกิดขึ้นแม้แต่รายเดียว ในส่วนของการติดเชื้อไวรัสซิกา ไม่อันตรายถึงแก่ชีวิตเหมือนไข้เลือดออก แต่ก็อันตรายต่อทารกในครรภ์ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการที่รุนแรง โดยมีไข้ มีผื่น ตาแดง หรือปวดข้อ ยกเว้นในหญิงที่ตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ทำให้มีภาวะศีรษะเล็กแคระแกร็นพิการแต่กำเนิด

การพัฒนาการไม่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีตลอดไป ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุดจะต้องกำจัดยุงที่เป็นตัวแพร่เชื้อให้ได้มากที่สุด และจะต้องป้องกันไม่ให้ยุงกัดตัวเรา สามารถป้องกันได้ทั้งโรคไข้เลือดออก และโรคเชื้อไวรัสซิกา แต่ติดเชื้อก็มีช่องทางอื่นๆ ที่เป็นไปได้ เช่น การผ่านเลือด แพร่จากมารดาที่ป่วยสู่ทารกในครรภ์ ซึ่งทาง สธ.ได้เตรียมการเฝ้าระวัง โดยแบ่งเป็น 4 ด้าน คือ 1.การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา 2.การเฝ้าระวังทางกีฏวิทยา 3.การเฝ้าระวังทารกแรกเกิดที่มีความพิการแต่กำเนิด และ 4.การเฝ้าระวังกลุ่มอาการทางระบบประสาท
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น