xs
xsm
sm
md
lg

ปลายฝนต้นหนาว หลายพื้นที่น้ำลด เพิ่มพื้นที่วางไข่ยุงลาย เสี่ยงป่วย 3 โรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมโรคห่วงปลายฝนต้นหนาว น้ำท่วมเริ่มลด เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทำแนวโน้มผู้ป่วยไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และซิกาพุ่งสูงขึ้น ขอประชาชนร่วมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ช่วยป้องกัน 3 โรค

วันนี้ (2 พ.ย.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค (EOC) ว่า ขณะนี้เข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ซึ่งช่วงปลายฝนแบบนี้ หลายพื้นอาจยังมีฝนตกประปราย และบางแห่งที่เคยมีน้ำท่วมก็เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเกือบเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญ เพราะหลังน้ำลด จะทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่าง ๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และทำให้ยุงลายมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ช่วงนี้มีผู้ป่วยโรคที่มาจากยุงลายเพิ่มจำนวนขึ้นเช่นกัน ทั้งโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา

นพ.เจษฎา กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 24 ต.ค. 2559 พบผู้ป่วย 50,856 ราย เสียชีวิต 44 ราย อัตราป่วย 77.73 ต่อประชากรแสนคน ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ สงขลา พัทลุง และ บึงกาฬ ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังพบว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วยทั้งหมด เข้ารับการรักษาหลังจากเริ่มป่วยมากกว่า 3 วัน ล่าสุด ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยรายใหม่ 1,604 ราย สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทย ปัจจุบันพบผู้ป่วยแล้ว 636 ราย โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยรายใหม่ 62 ราย แนวโน้มผู้ป่วยแต่ละสัปดาห์คงที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งสามารถควบคุมโรคได้ โดยพบผู้ป่วยในบางอำเภอ บางจังหวัดเท่านั้น ส่วนโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ยังคงมีจำนวนผู้ป่วย 13 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิต

“ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคที่มาจากยุงลายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง รวมถึงการรณรงค์ให้ประชาชนปฎิบัติตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่มาจากยุงลายเพิ่มขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมกันกำจัดเพาะพันธุ์ยุงลายที่เป็นสาเหตุของโรคดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีระบบการตรวจที่แม่นยำและส่งตัวอย่างตรวจมากขึ้น ทำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และสามารถพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ที่สำคัญ ในช่วงนี้เป็นช่วงปลายฝน น้ำในหลายพื้นที่เริ่งลดลง อาจทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่าง ๆ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จึงต้องขอความร่วมมือจากประชาชนเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และขอให้เริ่มต้นดำเนินการที่บ้านของตนเองก่อน จากนั้นขยายไปสู่ชุมชน และสถานที่ส่วนรวม เช่น โรงเรียน วัด และสถานที่ทำงาน เป็นต้น” อธิบดี คร. กล่าว

นพ.เจษฎา กล่าวว่า สำหรับวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกัน คือ ไม่ให้ยุงกัด โดยเร่งดำเนินการควบคุมลูกน้ำยุงลายให้ลดลง ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่ 1. เก็บบ้านให้สะอาด โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา รวมทั้งการกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย และการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด เช่น ทายากันยุง นอนในมุ้ง หรือห้องที่มีมุ้งลวด กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น