ong>อุบลราชธานี - ผอ.ป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี ย้ำประชาชนต้องช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เพื่อลดการระบาดของไวรัสซิกา และโรคไข้เลือดออกฤดูฝนปีนี้ หลังพบการระบาดแล้วใน 2 จังหวัดอีสานตอนล่าง ระบุควบคุมไม่ให้มีคนติดเชื้อเพิ่มได้แล้ว แต่ยังเฝ้าระวังกำจัดโรคให้หมดไป โดยชุมชนต้องร่วมมือร่วมแรงกัน
นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงการระบาดของเชื้อไวรัสซิกาในพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน 2 จังหวัด โดยจังหวัดแรกพบการระบาดเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบผู้ป่วย จำนวน 24 ราย ในจำนวนนี้มีหญิงตั้งครรภ์รวมอยู่ด้วย 2 คน ปัจจุบันสามารถควบคุมโรค โดยไม่พบมีผู้ป่วยเพิ่มเติม
ส่วนหญิงมีครรภ์ทั้ง 2 ราย แพทย์สูตินรีเวชได้ตรวจดูทารกที่อยู่ในครรภ์ ไม่พบการติดเชื้อของไวรัส เนื่องจากแม่ป่วยในช่วงที่ครรภ์แก่ใกล้คลอดจึงยังไม่มีผลกระทบถึงทารก แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์ที่ให้การดูแลรักษาจะติดตามตรวจดูอาการของทารกที่แม่ได้รับเชื้อไวรัสซิกาต่อเนื่องไปจนมีอายุ 3-5 ปี
ส่วนอีกจังหวัดพบผู้ป่วย 4 ราย และอยู่ระหว่างควบคุมโรค โดยร่วมกับทางอำเภอ สำนักงานเทศบาล และชุมชนทำการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นพาหนะสำคัญทำให้เกิดการระบาดของโรคไวรัสซิกา
ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 กล่าวต่อว่า การไม่ให้เกิดโรคนี้ทุกชุมชนต้องร่วมกันเก็บกวาดภาชนะ หรือขยะไม่ให้เป็นแหล่งใช้วางไข่ของยุงลายได้ หรือหากมีการระบาดของยุงลาย ต้องรีบฉีดพ่นยาฆ่าเพื่อไม่ให้ยุงสามารถแพร่เชื้อสู่คนได้
สำหรับอาการป่วยของผู้ติดเชื้อไวรัสซิกา จะมีอาการเป็นผื่นแดงตามผิวหนังตามลำตัว มีไข้ต่ำ ในผู้ใหญ่อาการป่วยจะหายไปเองภายใน 1 สัปดาห์ ไม่ทำให้เสียชีวิตเหมือนโรคไข้เลือดออก แต่ไวรัสซิกา จะมีผลต่อเชลล์สมองของทารกในหญิงมีครรภ์ ทำให้ทารกที่ได้รับเชื้อมีสมองลีบเล็กไม่มีการพัฒนาการทางสมอง กลายเป็นปัญหาในระบบสาธารณสุขต้องดูแลทารกที่ได้รับเชื้อไปตลอดชีวิต
การป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ทำได้โดยการเก็บข้าวของในบ้านเรือนไม่ให้รกรุงรัง เพื่อไม่ให้ยุงลายใช้เป็นที่อาศัย ทำการขัดไข่ลูกน้ำยุงตามภาชนะขังน้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ก็ไม่ทำให้เกิดการระบาดของโรคไวรัสซิกา รวมไปถึงโรคไข้เลือดออกได้ด้วย
นายแพทย์ศรายุธ กล่าวต่อว่า สำหรับโรคไวรัสซิกา ในภาคอีสานตอนล่างพบการระบาดครั้งแรกเมื่อปี 2556 มีผู้ติดเชื้อ 5 คน และเพิ่งมาพบการระบาดอีกครั้งในปีนี้ ปัจจุบันไม่มียาใช้ป้องกันหรือรักษาโรคนี้ แต่ป้องกันได้โดยไม่ให้ถูกยุงลายกัดเท่านั้น