xs
xsm
sm
md
lg

“ข่วงหลวงเวียงแก้ว” ชะงัก! ศิลปากรเข้าสานต่องานขุดบูรณะโบราณสถานไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ชะงัก! โครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว หลุมขุดค้นทางโบราณคดีถูกทิ้งน้ำท่วมขัง-วัชพืชคลุม เหตุงานรื้อถอนอาคารที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ที่จังหวัดเชียงใหม่รับผิดชอบไม่มีความคืบหน้า ส่งผลให้สำนักงานศิลปากรที่ 8 ยังไม่สามารถเข้าขุดลอกชั้นดินทับถมออกและทำการบูรณะโบราณสถานได้ตามแผน

วันนี้ (2 มิ.ย. 59) ที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ในตัวเมืองเชียงใหม่ นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ พร้อมด้วยเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่และประชาชนที่สนใจ ร่วมกันตรวจดูสภาพของหลุมขุดค้นทางโบราณคดีจำนวน 6 หลุม ตามโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว ที่สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ รับผิดชอบ

ทั้งนี้ ได้ดำเนินการขุดค้นและเก็บรวมรวมข้อมูลหลักฐานเบื้องต้น รวมทั้งการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์เข้าทำการเดินสำรวจสภาพใต้พื้นดิน เสร็จสิ้นไปตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค. 59 ที่ผ่านมาแล้ว โดยพบว่าสภาพของหลุมที่ขุดค้นไว้มีน้ำขังและวัชพืชปกคลุม

ตามแผนงานนั้น ตั้งแต่เดือน มี.ค. 59 เป็นต้นมาถึงปัจจุบันควรจะเป็นขั้นตอนของการรื้อถอนตัวอาคารออกไป เพื่อที่หลังจากนั้นทางศิลปากรจะได้เข้าทำการขุดลอกชั้นดินทับถมทางโบราณคดี หรือ ขุดลอกดินที่ทับถมโบราณสถานออก และการบูรณะแนวกำแพงเวียงแก้วและโบราณสถานศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ต่อไป

อย่างไรก็ตาม พบว่าจนถึงขณะนี้การรื้อถอนตัวอาคารยังไม่ได้เริ่มการใดๆ ทั้งสิ้น ตามรายงานข่าวระบุว่า ติดขัดปัญหาอยู่ทางสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ในขั้นตอนของการกำหนดราคากลาง เพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้แผนงานที่วางไว้ต้องล่าช้าออกไปทั้งหมด

นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้การดำเนินงานตามแผนงานปกติของโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้วได้เกิดความชะงักขึ้น เนื่องจากในส่วนของงานรื้อถอนอาคารที่ทางจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้รับผิดชอบยังไม่ได้เริ่มดำเนินการใดๆ ทั้งที่ควรจะเริ่มตั้งแต่เดือน มี.ค. 59 ซึ่งไม่ทราบเหตุผลที่ชัดเจน

ความล่าช้าที่เกิดขึ้นนั้น ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อการผุพังและเสื่อมสลายโบราณสถานในหลุมที่ขุดค้นไว้ เพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ถูกชั้นดินทับถมไว้ ไม่โดนความชื้น หรือปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เหมือนเวลานี้ ซึ่งจะส่งผลหากอนาคตทำการขุดลอกชั้นดินทับถมออก แล้วทำการบูรณะโบราณสถาน เพื่อจัดแสดงอาจจะไม่มีความสมบูรณ์อย่างที่ควรจะเป็น ทั้งนี้โดยส่วนตัวมองว่าหากสามารถดำเนินการได้เร็วเท่าใดก็จะเป็นผลดีมากเท่านั้น












กำลังโหลดความคิดเห็น