ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ นำคนงานเข้าทำการขุดลอกชั้นดินและขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ตามโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้วแล้ว โดยเริ่มทำการขุดเปิดหน้าดินก่อน 4 จุด เบื้องต้นพบแนวอิฐก่อที่คาดว่าอาจจะเป็นกำแพงอยู่ในชั้นดิน และเศษภาชนะกระเบื้องจำนวนมาก รวมทั้งเงินเหรียญสมัยรัชกาลที่ 5 รอทำการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ กรมศิลปากร เริ่มเข้าดำเนินการขุดค้นสำรวจทางโบราณคดีบริเวณของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ตามโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 59 ที่ผ่านมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทีมงานผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์พื้นพิภพจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำเครื่อง GPR (Ground Penetrating Radar) หรือเครื่องเรดาร์ทะลุพื้นดิน เข้าทำการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ไปแล้ว
ทั้งนี้ เบื้องต้นทางสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ได้นำคนงานเข้าทำการขุดลอกชั้นดินและขุดค้นทางโบราณคดี ในพื้นที่ของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) โดยมีการเปิดหน้าดินจำนวน 4 จุด แต่ละจุดมีความกว้างและยาวด้านละประมาณ 3 เมตร ทำการขุดลอกชั้นดินลงไปทีละ 10 เซนติเมตร หากพบวัตถุใดๆ จะทำการบันทึกภาพถ่ายและทำการขุดแต่งเพื่อเก็บวัตถุที่พบนำไปตรวจสอบอย่างละเอียดต่อไป
โดยตั้งแต่ที่เริ่มทำการขุดลอกชั้นดินและขุดค้นทางโบราณคดี รายงานข่าวแจ้งว่าได้มีการค้นพบที่น่าสนใจหลายอย่าง ทั้งที่เพิ่งทำการเปิดหน้าดินลงไปไม่ลึกมากนัก เช่น อิฐที่มีการก่อเป็นแนว ซึ่งเบื้องต้นสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นกำแพงหรือส่วนของสิ่งก่อสร้างอย่างหนึ่งอย่างใด ที่จะต้องมีการขุดค้นและทำการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง นอกจากนี้มีการพบเศษชิ้นส่วนของภาชนะกระเบื้องทั้งที่มีการเขียนลายและไม่มีลายจำนวนมาก รวมทั้งเงินเหรียญสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งทั้งหมดจะถูกรวบรวมและทำการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง
สำหรับขุดค้นทางโบราณคดี หรือการขุดศึกษาอายุสมัยของพื้นที่ ตามโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว จะใช้ระยะเวลา 75 วัน จากนั้นเป็นการขุดลอกชั้นดินทับถมทางโบราณคดี หรือขุดลอกดินที่ทับถมโบราณสถานออก ระยะเวลา 180 วัน และการบูรณะแนวกำแพงเวียงแก้วและโบราณสถานศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ระยะเวลา 150 วัน รวมระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 480 วัน ส่วนเรื่องการอนุรักษ์อาคารล่าสุดเหลือ 2 หลัง คือ อาคารเรือนพยาบาล และเรือนเพ็ญ ซึ่งคณะทำงานของจังหวัดจะได้นำไปสู่ขั้นตอนการประชาพิจารณ์ก่อนพิจารณาซ่อมแซมต่อไป