xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญ ม.เกษตรฯ นำเครื่องเรดาร์เดินสำรวจชั้นดินคุกหญิงเชียงใหม่ ตรวจหาโบราณสถานเวียงแก้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ทีมงานผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์พื้นพิภพจาก ม.เกษตรศาสตร์นำเครื่อง GPR (Ground Penetrating Radar) หรือ เครื่องเรดาร์ทะลุพื้นดิน เข้าทำการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ทั่วพื้นที่ 5,300 ตารางเมตรของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ตามโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้วแล้ว เพื่อสแกนชั้นใต้ดินประเมินความเป็นไปได้ที่จะพบวัตถุและสิ่งก่อสร้างโบราณ ก่อนวางแผนขุดค้นได้อย่างตรงจุด

วันนี้ (7 ม.ค. 59) ที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ในตัวเมืองเชียงใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กฤษณ์ วันอินทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วยทีมงานสำรวจทางธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเครื่องมืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์เข้าทำการเดินสำรวจสภาพใต้พื้นดินทั่วพื้นที่ของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานด้านขุดค้นทางโบราณคดี ตามโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว ที่สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ รับผิดชอบ และได้ว่าจ้างให้ทีมงานผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินงานในส่วนนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กฤษณ์กล่าวว่า คณะสำรวจได้รับมอบหมายจากสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ให้ทำการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์เพื่อทำการตรวจสอบสภาพและรวบรวมข้อมูลว่าใต้พื้นดินของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) เป็นอย่างไรบ้าง โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า GPR (Ground Penetrating Radar) หรือเครื่องเรดาร์ทะลุพื้นดิน ทำการเดินสำรวจทั้งแนวยาวและแนวขวางบนพื้นดินทั่วพื้นที่ 5,300 ตารางเมตร (ตร.ม.) ของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม)

จากนั้นจะนำข้อมูลที่ได้จากการใช้เครื่องมือสแกนชั้นดินมาทำการประมวลผลและประเมินร่วมกับทางศิลปากรว่าอาจจะมีวัตถุโบราณและโบราณสถานอยู่ตรงจุดใดบริเวณใดบ้าง เพื่อวางแผนการทำงานในการขุดลอกชั้นดินและขุดค้นทางโบราณคดีได้อย่างตรงจุด ซึ่งขั้นตอนการใช้เครื่องมือเดินสำรวจจะใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน จากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการประมวลผลโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์และความเชี่ยวชาญของนักวิชาการออกมาเป็นภาพสามมิติที่ใช้เวลาอีกประมาณ 30-60 วัน

ด้านนายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ กล่าวว่า ในการสำรวจพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ หรือข่วงหลวงเวียงแก้วนี้ ถ้ามีการสำรวจพบโบราณสถานในพื้นที่นี้แล้วจะต้องมีการไปพิจารณาจุดที่พบโบราณสถานกับแบบของข่วงหลวงเวียงแก้วที่ชนะการประกวดมาก่อนหน้านี้ว่าจะสามารถปรับปรุงแบบให้ออกมาเป็นแบบใด

ทั้งนี้ ถ้าเป็นโบราณสถาน ตามหลักการนั้นจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่สามารถทำลายทิ้ง จะต้องคงอยู่ ซึ่งเมื่อทางสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ได้ขุดพบโบราณสถานและมีการบูรณะแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายก็จะต้องมีการพิจารณาถึงแบบที่ชนะการประกวดว่าจะมีการปรับเพื่อความเหมาะสมแค่ไหน เป็นไปในทิศทางใด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่ามีการพบโบราณสถานมากน้อยเพียงใด และกระทบถึงแบบมากน้อยเพียงใดด้วย







ศิลปากรและหอจดหมายเหตุสำรวจคุกหญิงเก่าเชียงใหม่เดินหน้าพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว
ศิลปากรและหอจดหมายเหตุสำรวจคุกหญิงเก่าเชียงใหม่เดินหน้าพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่เตรียมเดินหน้างานขุดค้นทางโบราณคดีบนพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ตามโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว ดึงทีมผู้เชี่ยวชาญจาก ม.เกษตรศาสตร์นำเครื่องมือวิทยาศาสตร์ทันสมัยสแกนตรวจสอบผิวดินหาสิ่งปลูกสร้างหรืออาคารโบราณที่ถูกทับถมอยู่ข้างใต้เพื่อให้ทราบตำแหน่งและวางแผนขุดลอกชั้นดินทำการศึกษาได้ถูกจุด เบื้องต้นเชื่อเป็นได้สูงที่จะพบโบราณสถานที่มีความสำคัญ ขณะที่ภาคประชาชนเชียงใหม่ระบุพอใจความคืบหน้าโครงการ พร้อมหนุนให้มีการสำรวจขุดค้นพื้นที่ตามหลักวิชาการคลายข้อสงสัยและยุติการถกเถียงประเด็นเชิงประวัติศาสตร์
กำลังโหลดความคิดเห็น