xs
xsm
sm
md
lg

ศิลปากรและหอจดหมายเหตุสำรวจคุกหญิงเก่าเชียงใหม่เดินหน้าพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่เตรียมเดินหน้างานขุดค้นทางโบราณคดีบนพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ตามโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว ดึงทีมผู้เชี่ยวชาญจาก ม.เกษตรศาสตร์นำเครื่องมือวิทยาศาสตร์ทันสมัยสแกนตรวจสอบผิวดินหาสิ่งปลูกสร้างหรืออาคารโบราณที่ถูกทับถมอยู่ข้างใต้เพื่อให้ทราบตำแหน่งและวางแผนขุดลอกชั้นดินทำการศึกษาได้ถูกจุด เบื้องต้นเชื่อเป็นได้สูงที่จะพบโบราณสถานที่มีความสำคัญ ขณะที่ภาคประชาชนเชียงใหม่ระบุพอใจความคืบหน้าโครงการ พร้อมหนุนให้มีการสำรวจขุดค้นพื้นที่ตามหลักวิชาการคลายข้อสงสัยและยุติการถกเถียงประเด็นเชิงประวัติศาสตร์

รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า วานนี้ (6 ม.ค. 59) เจ้าหน้าที่จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่ และสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ เริ่มเข้าทำการสำรวจพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่(เดิม) ตามโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้วแล้ว เพื่อดำเนินการด้านจดหมายเหตุ ในส่วนที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ รับผิดชอบ และดำเนินงานด้านขุดค้นทางโบราณคดี ที่สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ รับผิดชอบ โดยที่มีตัวแทนจากภาคีเครือข่ายประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ ที่ประกอบด้วยเครือข่ายผู้หญิงเชียงใหม่, ชมรมอาสาสมัครกฎหมายเพื่อผู้หญิง, กลุ่มจับตาเชียงใหม่, เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่, ศูนย์ช่วยเหลือผู้หญิงและเด็ก, ชมรมคนช้างม่อย และอีกหลายกลุ่มที่เคลื่อนไหวทำงานด้านการอนุรักษ์ภาคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่จะรับผิดชอบการดำเนินงานทางโบราณคดีในพื้นที่เวียงแก้ว มีการดำเนินงาน 4 กระบวนการ ได้แก่ การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ ระยะเวลา 75 วัน, การขุดค้นทางโบราณคดี (ขุดศึกษาอายุสมัยของพื้นที่) ระยะเวลา 75 วัน, การขุดลอกชั้นดินทับถมทางโบราณคดี (ขุดลอกดินที่ทับถมโบราณสถานออก) ระยะเวลา 180 วัน และการบูรณะแนวกำแพงเวียงแก้วและโบราณสถานศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ระยะเวลา 150 วัน รวมระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 480 วัน

โดยในส่วนของการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ มีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ดำเนินงาน ใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และเรดาร์สแกนไปบนผิวดินเพื่อประมวลผล คาดการณ์ อาคารโบราณสถานที่อยู่ใต้ผิวดิน

ทั้งนี้ จะทำให้พอทราบตำแหน่งที่ตั้งและลักษณะของสิ่งที่อยู่ใต้ดิน ช่วยให้สามารถประเมินและวางแผนการขุดลอกชั้นดินได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งวางแผนดำเนินงานอื่นๆ ต่อไปได้อย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ เบื้องต้นมั่นใจว่าในการสำรวจจะต้องพบแนวกำแพงเวียงแก้ว และเมื่อพิจารณาจากตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ไม่ห่างจากวัดสำคัญ ทั้งวัดพระสิงห์, วัดเชียงมั่น หรือวัดสะดือเมือง เชื่อว่าอาจจะทำให้พบกับโบราณสถานอื่นๆ ที่มีความสำคัญด้วย ส่วนการจะเก็บและอนุรักษ์อาคารเก่าของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) บางหลังเอาไว้นั้น จะต้องมีการพิจารณาหารือร่วมกันและขอความเห็นชอบจากทุกภาคส่วนอีกครั้งว่ามีความต้องการอย่างไร

ขณะที่ นางเสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ กล่าวว่า ล่าสุดจากการติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว เบื้องต้นมีความพึงพอใจที่การดำเนินการต่างๆ มีความก้าวหน้าไปตามลำดับ และค่อนข้างจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ภาคประชาชนให้ความเห็นชอบ

โดยเฉพาะในเรื่องของการสำรวจขุดค้นตามหลักวิชาการว่าใต้พื้นดินของพื้นที่ดังกล่าวนี้มีโบราณสถานหรือสิ่งที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่อะไรอยู่บ้าง เพื่อจะได้พิสูจน์ให้ทราบอย่างชัดเจนโดยทั่วกัน พร้อมคลายข้อสงสัยและยุติข้อถกเถียงต่างๆ ลง รวมทั้งจะได้วางแผนการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ได้อย่างมีทิศทางให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้และเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่







กำลังโหลดความคิดเห็น