MGR Online - “เปิ้ล นาคร” พร้อมลูกเมียนำกระเช้าดอกไม้เข้าเข้าเยี่ยมอาการว่าที่อธิการบดี ม.เกษตรฯ หลังตกเจ็ตสกีลอยคอกลางทะเล 19 ชม. พร้อมขอโทษ เป็นต้นเหตุ ด้าน รศ.ดร.บดินทร์ เผยอาการดีขึ้นเตรียมออกจาก รพ.กลับบ้านได้แล้ว พร้อมระบุเป็นบทเรียนการจัดการกีฬาทางน้ำ และส่วนตัวได้ฝึกบริหารความตาย ขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยกันตามค้นหา
วันนี้ (23 ธ.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. นายนาคร ศิลาชัย หรือเปิ้ล นาคร พิธีกร-นักแสดงชื่อดัง พร้อมจูน-กษมา ศิลาชัย ภรรยา น้องออกัส-ออก้า ลูกสาวและลูกชาย นายไกรสร ธีระประทีป ประธานชมรมเจ็ตสกีสปีดโบ๊ตมิตรแท้ และนายกรกิจ ทองประหยัด เลขาฯ ชมรมเจ็ตสกีฯ นำช่อดอกไม้เข้าเยี่ยม รศ.ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ ว่าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่นอนพักรักษาตัวอยู่ในห้องเลขที่ 705 ชั้น 7 ของโรงพยาบาลกรุงเทพ โดยอาการและสีหน้าของ รศ.ดร.บดินทร์นั้นดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
นายนาครกล่าวว่า ตนเพิ่งกลับมาจากทำภารกิจที่หัวหินก็รีบมาเยี่ยม รศ.ดร.บดินทร์ทันที ตนต้องกราบขอโทษอาจารย์ด้วยที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา ส่วนหนึ่งเป็นความผิดของตนเองที่ระบบการช่วยเหลือนั้นคลาดเคลื่อนไปทั้งที่ทีมงานที่ใช้นั้นเป็นมืออาชีพมีประสบการณ์อยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศ เคยขับเจ็ตสกีข้ามอ่าวกันมาแล้ว เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นกรณีศึกษาที่ต้องนำปรับปรุงและฝึกซ้อมระบบความปลอดภัยทั้งส่วนรวมและส่วนตัว
นายนาครกล่าวด้วยว่า หากเป็นคนอื่นประสบเหตุการณ์แบบนี้อาจจะพยายามใช้แรงว่ายน้ำสู้กับคลื่น แต่ รศ.ดร.บดินทร์นั้นใช้สมองสู้กับคลื่น สิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 19 ชั่วโมงในทะเลของ รศ.ดร.บดินทร์นั้นเป็นปรัชญาสอนให้เรานำไปปรับใช้กับเรื่องอื่นๆ ได้ เช่น เรื่องไม้ไผ่ท่อนเดียว ก็ทำให้คิดได้ว่าเวลามีปัญหาหรืออุปสรรคนั้น สิ่งเล็กๆ ก็อยู่เป็นเพื่อนเราได้ อย่างไรก็ตาม การจัดงานเจ็ตสกีข้ามอ่าวเฉลิมพระเกียรติ 2016 เทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จัดขึ้นมานั้น ทีมงานตั้งใจทำเพื่อในหลวงด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อเกิดอุปสรรคขึ้นมาพระบารมีของพระองค์ช่วยให้คลี่คลายไปในทางที่ดีได้
ด้าน รศ.ดร.บดินทร์กล่าวว่า ขณะนี้อาการของตนดีขึ้นจนเกือบเป็นปกติแล้ว เหลือแค่แผลถลอกตามร่างกายเท่านั้น เย็นนี้แพทย์ก็อนุญาตให้กลับบ้านได้ สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นบทเรียนเรื่องระบบความปลอดภัยสำหรับกีฬาทางน้ำ เนื่องจากการสำรวจเส้นทางคนน้อยยังเกิดขึ้นได้ การจัดงานจริงจะต้องไม่เกิดขึ้น เพราะเป็นงานใหญ่และจำนวนคนมากกว่าครั้งนี้
รศ.ดร.บดินทร์กล่าวต่อว่า ตลอดเวลา 19 ชั่วโมงของตนที่ต้องอยู่ในทะเลนั้นเป็นการบริหารความหวังที่จะมีชีวิตรอด มีหลายอย่างที่ต้องรู้จักสังเกตรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น ช่วงกลางคืนที่ตนลอยคออยู่ในน้ำที่ตนบอกว่าพยายามว่ายเข้าหาไฟของเรือประมงนั้น ตนพยายามมองลำที่เป็นไฟคู่ เพราะจะเป็นเรือคู่ที่ใช้ลากอวน ตนคิดว่าหากเข้าไปใกล้ก็อาจจะติดอวนไปพร้อมกับสัตว์น้ำบ้าง แต่ว่ายเท่าไรก็ไม่ถึงสักที แสดงว่าไฟจากเรือประมงที่ตนว่ายเข้าไปหานั้นเป็นไฟท้ายเรือแน่นอน ไม่ใช่ไฟหน้าเรือ ก็เลยหยุดว่ายเข้าไป
“ความหวังนั้นสำคัญ เราไม่ได้หวังรอให้คนมาช่วย เราต้องเอาความหวังเป็นตัวตั้ง แล้วพยายามทำด้วยการว่ายเข้าหาเรือแต่ละลำที่แล่นผ่านมา ตะโกนร้องเรียกขอความช่วยเหลือ และต้องคอยสังเกตทุกอย่างรอบตัว ถามว่ากลัวหรือไม่ ผมอยู่ในน้ำจนไม่กลัวแล้ว เหมือนที่เคยบอกว่าหลังจากผ่านชั่วโมงที่ 3 ไป ผมต้องบริหารความตาย ผมขอฝากขอบคุณทีมงานที่จัดงาน ทหาร-ตำรวจทุกนาย ทางจังหวัด ที่กรุณาระดมกำลังกันช่วยตามหาจนพบตัว และต้องกราบขออภัยที่ทำให้ต้องวุ่นวายจากเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย” ว่าที่อธิการบดี ม.เกษตรศาสตร์กล่าว