xs
xsm
sm
md
lg

ศิลปากรขุดพบเศษเครื่องถ้วยจีนโบราณใต้ดินคุกหญิงเก่าเชียงใหม่ หลักฐานชี้ตรงช่วงต้นสมัยล้านนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - นักโบราณคดีสำนักศิลปากรที่ 8 เผยความคืบหน้าการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ตามโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว พบหลักฐานเศษเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน อายุราวปี พ.ศ.1800 กว่าๆ ยืนยันมีการใช้ประโยชน์พื้นที่มาตั้งแต่ต้นสมัยล้านนา ขณะเดียวกันพบแนวกำแพงอิฐเก่าชี้ชัดขอบเขตเวียงแก้วที่ตั้งคุ้มหลวงเจ้าครองนครเชียงใหม่ เตรียมนำข้อมูลหลักฐานวิเคราะห์ร่วมกับผลการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์

วันนี้ (15 ก.พ. 59) นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตามที่สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ กรมศิลปากรได้รับมอบหมายให้ผิดชอบดำเนินการขุดค้นสำรวจทางโบราณคดีบริเวณของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ตามโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค. 59 ได้เริ่มทำการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์พื้นพิภพจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยใช้เครื่อง GPR (Ground Penetrating Radar) หรือ เครื่องเรดาร์ทะลุพื้นดินทำการสำรวจ โดยเวลานี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำรายงาน ขณะที่ล่าสุดงานขุดค้นทางโบราณคดี หรือการขุดศึกษาอายุสมัยของพื้นที่จากชั้นดินก็ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว

โดยจากการขุดค้นเพื่อศึกษาอายุสมัยของพื้นที่จากชั้นดินนั้น ดำเนินการโดยให้คนงานทำการขุดลอกชั้นดินและขุดค้นทางโบราณคดี ในพื้นที่ของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ด้วยการเปิดหน้าดิน เบื้องต้นจากชั้นดินที่ลึกลงไปกว่าเมตรพบหลักฐานว่าพื้นที่แห่งนี้มีการใช้ประโยชน์อย่างน้อย 3 ยุคสมัยหลักๆ ได้แก่ สมัยล้านนา, สมัยรัชกาลที่ 5-รัชกาลที่ 6 และสมัยปัจจุบัน

ทั้งนี้ หลักฐานสำคัญที่ทำให้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะมีการใช้ประโยชน์พื้นที่แห่งนี้มาตั้งแต่สมัยล้านนาก็คือเศษเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน ราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศษเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์หยวนที่มีอายุเก่าแก่ประมาณ พ.ศ.1800 กว่าๆ ซึ่งตรงกับช่วงต้นของสมัยล้านนาพอดี อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถระบุได้ว่าในสมัยล้านนานั้น พื้นที่แห่งนี้ถูกใช้ประโยชน์อย่างไร

ขณะเดียวกัน มีการขุดค้นพบอิฐที่วางก่อเป็นแนวกำแพง และปูพื้น รวมทั้งฐานรากของสิ่งปลูกสร้าง และเหรียญกษาปณ์สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเมื่อทำการวิเคราะห์ร่วมกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ทั้งแผนที่นครเชียงใหม่ พ.ศ. 2436 และบันทึกของชาวต่างชาติ โดยเมื่อพิจารณาจากแผนที่ดังกล่าวที่ปรากฏขอบเขตของเวียงแก้วหรือคุ้มหลวงของเจ้าผู้ครองเชียงใหม่ นำมาเทียบกับแผนที่ในปัจจุบัน ทำให้เชื่อว่าแนวกำแพงดังกล่าวน่าจะเป็นขอบเขตกำแพงของเวียงแก้ว ซึ่งเป็นกำแพงที่แบ่งระหว่างชั้นนอกกับชั้นในของเวียงแก้ว แต่เป็นในช่วงที่เจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ย้ายคุ้มหลวงไปตั้งอยู่ที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย (ในปัจจุบัน) แล้ว จึงถูกปล่อยร้าง และมีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทน

สำหรับการดำเนินการในช่วงต่อจากนี้ไปนั้น นายสายกลางบอกว่าจะต้องนำหลักฐานและข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการขุดค้นไปวิเคราะห์ประกอบร่วมกับผลวิเคราะห์จากการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ เพื่อวางแผนการทำงานในขั้นตอนต่อไป ทั้งการขุดลอกชั้นดินทับถมทางโบราณคดี หรือขุดลอกดินที่ทับถมโบราณสถานออก และการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานที่พบ

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการดำเนินการในส่วนของการขุดลอกดินที่ทับถมโบราณสถานออกนั้น เห็นว่าทางจังหวัดเชียงใหม่อาจมีความจำเป็นที่จะต้องทำประชาพิจารณ์อีกครั้งเกี่ยวกับการรื้อถอนอาคารของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ที่มีอยู่ 6 อาคารหลัก ซึ่งต่างมีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ทั้งสิ้นว่าจะมีข้อสรุปในการเก็บรักษาอย่างไร จากเดิมที่มีข้อสรุปว่าจะทำการเก็บรักษาไว้ 2 อาคาร คือ อาคารเรือนพยาบาล และอาคารเฮือนเพ็ญ ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้สามารถวางแผนการขุดลอกดินที่ทับถมโบราณสถานออกและแผนการรื้อถอนได้อย่างไม่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการทำงานทั้งสองส่วนนี้ เนื่องจากการทำการขุดลอกจะสามารถกลับเริ่มดำเนินการได้อีกครั้งหลังการรื้อถอนเสร็จสิ้น เพราะหากดำเนินการขุดลอกไปก่อนจะต้องมีการขุดหลุม ซึ่งจะทำให้การนำเครื่องจักรเข้าออกเพื่อรื้อถอนและการขนเศษวัสดุจากการรื้อถอนทำได้ยาก

ขณะที่เมื่อรื้อถอนและทำการขุดลอกเสร็จแล้วก็จะเป็นขั้นตอนของการบูรณะและพัฒนาพื้นที่ตามแบบที่ชนะการประกวดที่อาจจะต้องมีการพิจารณาร่วมกันกับสภาพพื้นที่จริงที่ขุดค้นพบอีกครั้ง เพื่อหาจุดร่วมกันอีกครั้งก่อนที่ดำเนินการต่อไปในส่วนของการก่อสร้างและพัฒนาพื้นที่





กำลังโหลดความคิดเห็น