ตรัง - หมวดทางหลวงห้วยยอด จ.ตรัง เตรียมงบประมาณจัดทำโครงการปรับภูมิทัศน์บริเวณต้นยางพาราที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัด เพื่อสร้างอัตลักษณ์ และประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวใหม่
วันนี้ (15 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจตุพร ทิพย์ทอง หัวหน้าหมวดทางหลวงห้วยยอด กล่าวว่า เนื่องจาก จ.ตรัง เป็นจังหวัดแห่งยางพาราต้นแรกของประเทศไทย โดยปัจจุบันปลูกอยู่ริมถนนตรังภูมิ ในเขตเทศบาลเมืองกันตัง และยังเป็นจังหวัดที่น่าจะมีต้นยางพาราที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วย ดังนั้น ทางจังหวัดจึงได้ให้ทั้ง 10 อำเภอ ลงไปทำการสำรวจต้นยางพาราในพื้นที่ต่างๆ โดยเน้นต้นที่ยังคงมีความสมบูรณ์ สูงใหญ่ และมีการเจริญพันธุ์ได้ดี เพื่อสรรหาต้นยางพาราที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดตรัง
ทั้งนี้ หลังจากคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกได้ดำเนินการเสร็จสิ้น พบว่า ต้นยางพาราที่ปลูกอยู่บริเวณหลังหมวดทางหลวงห้วยยอด ซึ่งมีอายุ 104 ปี มีเส้นรอบวงลำต้น 4.42 เมตร และสูง 30 เมตร โดยปลูกขึ้นในสมัยที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) บิดาแห่งยางพาราไทย มาดำรงตำแหน่งเป็นพ่อเมืองตรัง ประมาณปี 2455 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงถือเป็นต้นยางพาราที่มีความสวยงาม และใหญ่ที่สุดของจังหวัดตรัง
จากนั้น ทางจังหวัดจึงได้มอบหมายให้ นายสมพงษ์ กฤตธรรมากุล อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.อ.ตรัง จัดทำโครงการปรับภูมิทัศน์บริเวณต้นยางพาราที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดตรังหลังหมวดทางหลวงห้วยยอด เนื้อที่ 1.12 ไร่ เบื้องต้น ได้ประมาณการงบประมาณไว้ทั้งหมด 5,396,600 บาท ใน 5 หมวดงาน ได้แก่ หมวดงานสำรวจรื้อถอน งานดินและปรับระดับ หมวดงาน Hardscape หมวดงาน Softscape หมวดงานระบายน้ำ และหมวดงานไฟส่องสว่าง
ซึ่งเบื้องต้น ในปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมา ทางจังหวัดตรัง ได้อนุมัติงบประมาณมาเพื่อดำเนินโครงการในงวดแรก 310,300 บาท ประกอบด้วย หมวดงานสำรวจรื้อถอน งานดินและปรับระดับ ได้แก่ การตัดแต่งกิ่งต้นยางพารา ปรับระดับพื้นที่ และรื้อถอนต้นไม้เดิม ส่วนหมวดงาน Hardscape ได้แก่ การสร้างทางเดิน ยาว 20 เมตร กว้าง 1.50 เมตร ลานอเนกประสงค์ ม้านั่ง และจัดทำป้ายประกาศว่า เป็นต้นยางพาราที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดตรัง พร้อมทำการบำรุง และดูแลต้นยางพาราให้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น
สำหรับโครงการดังกล่าวจะเป็นการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวใหม่ และศึกษาประวัติศาสตร์เชิงเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน รวมทั้งสร้างความภาคภูมิใจและการมีส่วนร่วมของชุมชน เนื่องจากชาวตรังส่วนใหญ่มีอาชีพดั้งเดิม คือ ทำสวนยางพารา จนสามารถสร้างรายได้ และกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ และประเทศไทย ซึ่งหลังจากเปิดสถานที่ตั้งต้นยางพาราที่ใหญ่ที่สุดของ จ.ตรัง มีประชาชน และนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเข้าเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก