xs
xsm
sm
md
lg

แล้งจัดต้นยางใหญ่สุดในตรังใบร่วงหมดต้น จนท.ระดมรดน้ำแก้ปัญหาวันละ 3 พันลิตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - ผลกระทบจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ฝนทิ้งช่วงกว่า 2 เดือน ทำต้นยางพาราที่ใหญ่ที่สุดของ จ.ตรัง ใบร่วงหมดทั้งต้น และยังคงไม่แตกใบใหม่เลยแม้แต่น้อย ด้าน ผอ.แขวงการทางสั่ง จนท.นำรถบรรทุกน้ำรดต้นยางวันละ 3 พันลิตร

วันนี้ (3 มี.ค.) นายจตุพร ทิพย์ทอง หัวหน้าหมวดทางหลวงห้วยยอด จ.ตรัง ได้นำผู้สื่อข่าวไปตรวจสอบต้นยางพาราที่ใหญ่ที่สุดของ จ.ตรัง ซึ่งปลูกอยู่บริเวณหลังหมวดทางหลวงห้วยยอด หลังจากที่ต้นยางพาราดังกล่าวได้มีสภาพทรุดโทรมลงในช่วงหน้าแล้งของปีนี้ จนทำให้ใบร่วงหมดทั้งต้น นับตั้งแต่เมื่อต้นเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา จนเหลือเพียงกิ่งก้านเท่านั้น และก่อนหน้านี้ เมื่อ 1 เดือนที่แล้ว ต้นยางพาราก็เคยแตกใบใหม่ออกมาจากลำต้น แต่เพียงไม่นานใบก็ร่วงหมดอีกครั้ง ทำให้เกรงว่าจะส่งกระทบต่อการเจริญเติบโต และอาจทำให้ต้นยางพาราถึงขั้นตายลงได้ หากหน้าแล้งของปีนี้กินระยะเวลายาวนานหลายเดือน
 

 
ทั้งนี้ นายสันติ วงศ์ยงศิลป์ ผอ.แขวงการทางจังหวัดตรัง ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่นำรถบรรทุกน้ำมารดต้นยางพาราที่ใหญ่ที่สุดของ จ.ตรัง วันละ 3,000 ลิตร พร้อมทั้งทำระบบน้ำหยด โดยหวังว่าความชื้นจากน้ำที่รดลงไปจะช่วยให้ต้นยางพาราแตกใบใหม่โดยเร็ว นอกจากนั้น จากการทดลองเจาะลำต้นพบว่า เนื้อไม้ยังคงมีความสด และมีน้ำยางพาราไหลออกมาตามปกติ เพียงแต่ต้นยางพาราต้นนี้มีอายุมากถึง 104 ปี มีเส้นรอบวงลำต้น 4.42 เมตร และสูง 30 เมตร จึงทำให้การแตกใบใหม่ใช้ระยะเวลายาวนานกว่าต้นยางพาราโดยทั่วไป ประกอบกับเจอสภาพอากาศที่ร้อนจัด และมีฝนทิ้งช่วงกว่า 2 เดือนแล้ว
 

 
สำหรับต้นยางพาราที่ใหญ่ที่สุดของ จ.ตรัง ปลูกขึ้นในสมัยที่ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) บิดาแห่งยางพาราไทย มาดำรงตำแหน่งเป็นพ่อเมืองตรัง เมื่อประมาณปี 2455 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กระทั่งล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ทางจังหวัดได้มอบหมายให้อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง เข้าทำการปรับภูมิทัศน์บริเวณต้นยางพาราที่ใหญ่ที่สุดด้วยงบประมาณ 5.3 ล้านบาทเศษ เพื่อสร้างอัตลักษณ์ และแหล่งท่องเที่ยวใหม่ จนมีประชาชน และนักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น