xs
xsm
sm
md
lg

เจ๋ง! วิทยาลัยเทคนิคตรังคิดค้นผลิตภัณฑ์จากยางพารา เพิ่มมูลค่าในยุคราคาตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - วิทยาลัยเทคนิคตรัง นำยางพารามาประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าในยุคที่ราคาตกต่ำ โดยเฉพาะแผ่นยางปูพื้น ปูสนามฟุตซอล และกระถางต้นไม้ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก

วันนี้ (1 ก.พ.) นายสุรศักดิ์ เทพทอง หัวหน้าสาขาเทคโนโลยียางและโพลิเมอร์ วิทยาลัยเทคนิคตรัง กล่าวว่า จากนโยบายทั้งของรัฐบาล และของจังหวัดตรังที่ต้องการส่งเสริมให้มีการนำยางพารา ทั้งยางแผ่นรมควัน และน้ำยางมาใช้ประโยชน์มากขึ้น ด้วยการประดิษฐ์คิดค้นเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าในยุคที่ยางพาราประสบปัญหาราคาตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ยางพาราก็เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของชาวภาคใต้ อีกทั้งยังมีต้นกำเนิดที่จังหวัดตรัง มาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 100 ปีแล้ว

ดังนั้น วิทยาลัยเทคนิคตรัง จึงได้จัดทำโครงการวิจัยเรื่องยางพารามาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งสามารถสร้างผลิตภัณฑ์นำไปใช้ และจำหน่ายมาแล้วนับ 10 ชนิด เช่น ประติมากรรมภาพนูน ภาพลอยตัว กลองชุด อิฐบล็อก อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดรับต่อความเปลี่ยนแปลง หรือความต้องการยุคปัจจุบัน คณะอาจารย์ และนักศึกษาจึงได้ช่วยกันประดิษฐ์คิดค้นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นอีกหลายชนิด โดยเฉพาะแผ่นยางปูพื้น แผ่นยางปูสนามฟุตซอล กระถางต้นไม้ และยางปูบ่อปลา ซึ่งนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 

 
สำหรับแผ่นยางปูพื้น และแผ่นยางปูสนามฟุตซอล จะมีขนาดแผ่นละ 33.4 x 33.4 ซม. หรือขนาด 9 แผ่นต่อ 1 ตารางเมตร โดยมีต้นทุนตารางเมตรละ 800-900 บาท แต่นำไปขายได้ในท้องตลาดตารางเมตรละ 1,300-1,500 บาท จุดเด่นคือ การเชื่อมต่อของแผ่นยางจะมีลักษณะคล้ายกับปากเหยี่ยว จึงยึดติดกันเหนียวแน่น และคงทนแข็งแรงมาก ซึ่งเฉพาะแผ่นยางปูพื้นขณะนี้ อบจ.ตรัง ได้ตั้งงบประมาณสั่งซื้อมาแล้ว 1 ล้านบาท เพื่อนำไปปูถนนบนเกาะสุกร อ.ปะเหลียน

ส่วนกระถางต้นไม้ และยางปูบ่อปลาก็เป็นอีกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ได้รับความสนใจเพื่อทดแทนการใช้ปูน หรือพลาสติก โดยเฉพาะกระถางต้นไม้ที่เปลี่ยนวิธีการผลิตจากการจุ่มแบบมาเป็นการพ่น เมื่อน้ำยางเกาะแน่นบนผ้าดิบตามความหนาที่ต้องการก็นำไปใช้งานได้ทันที แถมยังมีสีสันหลากหลาย และสะดวกในการขนส่ง แถมไม่แตกด้วย ซึ่งจะมีขนาดตั้งแต่เส้นผ่าศูนย์กลาง 10, 20, 30, 50 ไปจนถึงใหญ่สุด 70 ซม. ที่ใช้ปลูกมะนาวได้ โดยมีต้นทุนเริ่มต้นตั้งแต่ใบละ 30 บาท แต่นำไปขายได้ในท้องตลาดใบละ 150 บาท
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น