xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรเมิน! รับซื้อยาง 17 จุดบุรีรัมย์เงียบเหงา เหตุยุ่งยาก ได้เงินช้า ราคาใกล้ตลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คณะกรรมการโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐระดับ จ.บุรีรัมย์ ลงพื้นที่ติดตามการรับซื้อยางในโครงการของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรประสบปัญหาราคาตกต่ำ  วันนี้ (27 ม.ค.)
บุรีรัมย์ - เกษตรกรบุรีรัมย์นำยางมาขายในโครงการฯ ของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรประสบปัญหาราคาตกต่ำ น้อย-เหตุยุ่งยาก ได้เงินช้า ทั้งราคาไม่แตกต่างตลาดมากนัก ทั้งส่วนใหญ่นำยางคุณภาพต่ำมาขาย ทำให้ไม่ได้ราคาตามโครงการ

วันนี้ (27 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการบริหารโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐระดับจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ลงพื้นที่ติดตามการรับซื้อยางพาราในโครงการฯของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำจำนวน 6 จุด คือ ตลาดกลางยางพาราจังหวัดบุรีรัมย์, สหกรณ์การเกษตรคูเมือง, สหกรณ์การเกษตรสตึก, สหกรณ์นิคมแคนดง ,สหกรณ์กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางแคนดง และสหกรณ์กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางโนนสุวรรณจากที่มีกำหนดเปิดรับซื้อจำนวน 17 จุด กระจายอยู่ตามอำเภอต่างๆ ในจังหวัด

ทั้งนี้ พบว่าขณะนี้มีเกษตรกรนำยางพาราแผ่นดิบ และยางก้อนถ้วยมาขายในโครงการฯ ค่อนข้างน้อย ไม่คึกคักเท่าที่ควร โดยจากการสอบถามทราบว่าสาเหตุเนื่องมาจากส่วนใหญ่ได้ปิดหน้ายางแล้ว ทั้งบางส่วนได้นำยางไปขายยังจุดรับซื้อของเอกชน เพราะราคารับซื้อในโครงการที่กำหนดไว้กิโลกรัมละ 45 บาท ไม่ได้แตกต่างจากราคาท้องตลาดที่รับซื้อกิโลกรัมละ 39 บาท อีกทั้งยังได้รับเงินล่าช้าต้องรอถึง 2 วันหลังจากขายแล้วจึงจะได้รับเงิน แต่ขายให้เอกชนได้รับเงินสดทันที ทำให้เกษตรกรเลือกขายยางกับจุดรับซื้อเอกชนที่อยู่ใกล้บ้านมากกว่า

นอกจากนี้ยังพบปัญหาเกษตรกรส่วนใหญ่ที่นำยางมาขายจะเป็นยางคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในโครงการฯ ทำให้ไม่ได้ราคากิโลกรัมละ 45 บาทตามโครงการฯ แต่จะได้ราคาตามคุณภาพของยาง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงให้เกษตรกรทราบแล้วเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาในภายหลัง

นายอาคม พิญญศักดิ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐระดับจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า โครงการรับซื้อยางพาราตามโครงการฯ ดังกล่าว สามารถยกระดับราคายางให้เพิ่มขึ้นได้ โดยจากการสำรวจพบว่าก่อนหน้านี้ราคายางตามท้องตลาดอยู่ที่กิโลกรัมละ 36 บาท ปัจจุบันเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 39 บาท

ส่วนปัญหาที่พบทั้งเรื่องคุณภาพยางต่ำ รวมถึงข้อเรียกร้องของเกษตรกร ทั้งการขอให้เพิ่มปริมาณรับซื้อยางจากรายละ 150 กิโลกรัม เป็นรายละ 1-2 ตัน และอยากได้รับเงินทันทีหลังจากขายเสร็จไม่ต้องรอถึง 2 วัน โดยเกษตรกรให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องใช้จ่ายเงิน จะได้นำเสนอต่อทางกระทรวงฯ และรัฐบาลเพื่อรับทราบและหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น