xs
xsm
sm
md
lg

ยิ้มออก! ชาวบ้านขามพัทลุงกู้วิกฤตปลูก “แส้” แซมสวนยางสร้างรายได้ในภาวะราคายางตกต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
พัทลุง - ชาวบ้านบ้านขาม จ.พัทลุง ปลูกพืชไร่แซมสวนยาง สร้างรายได้เสริมกู้วิกฤตราคายางพาราตกต่ำ โดยเฉพาะการปลูกแส้ที่เป็นพืชประจำถิ่น สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี และเป็นที่นิยมของตลาดทางภาคใต้ ทำให้ชาวบ้านเริ่มยิ้มออก และมีรายได้เลี้ยงครอบครัวมากขึ้น

วันนี้ (11 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสภาวะราคายางพาราตกต่ำ เหลือ 3 กิโลกรัมต่อ 100 บาท ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่จังหวัดพัทลุง และภาคใต้ ได้รับความเดือดร้อนรายได้ไม่พอต่อรายจ่ายต้องเป็นหนี้เป็นสิน เนื่องจากเกษตรชาวสวนยางพารานิยมปลูกพืชชนิดเดียว ทำให้เมื่อเข้าสู่ช่วงภาวะราคายางตกต่ำมายาวนาน ทำให้ได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า

แต่ยังมีเกษตรกรชาวสวนยางอีกกลุ่มที่ทำสวนยางพารา และปลูกพืชไร่แซมในสวน และข้างบ้าน แม้ได้รับผลกระทบจากราคายางพาราตกต่ำ แต่ก็สามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยการปลูกพืชไร่ระยะสั้นเสริม
 

 
โดยเฉพาะชาวบ้านบ้านขาม ท้องที่หมู่ 7 ต.ลำสินต์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง ใช้พื้นที่ว่างข้างบ้าน และสวนยางพาราที่ขอทุนสงเคราะห์ใหม่ มาปลูกพืชแซมสวนยาง อย่างกล้วยไข่ ตะไคร้ ขมิ้น และแส้ สร้างรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัวหลังกรีดยางพาราเสร็จ และสามารถสร้างรายได้อย่างดี โดยเฉพาะการปลูกแส้ ที่เป็นพืชระยะสั้น มีลักษณะลำต้นพุ่มเตี้ย ลักษณะต้นเหมือนต้นหอม แต่แคระแกร็น สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี และเป็นที่นิยมของตลาดทางภาคใต้ในการนำไปแปรรูปประกอบอาหาร และนำไปทำผักสด

ด้าน นายนิกร มีบุญเอียด ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 7 ต.ลำสินต์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง กล่าวว่า ชาวบ้านในหมู่บ้านมีทั้งหมด 244 ครอบครัว ส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนยางพารา แต่ภาวะวิกฤตยางพาราราคาตกต่ำมานานหลายปีทำให้ได้รับความเดือดร้อน แต่มาระยะหลังชาวบ้านเริ่มดิ้นรน และปรับตัวเองได้ขึ้นมาบ้างแล้ว หลังจากที่ได้ส่งเสริมแนะนำพูดคุยให้ชาวบ้านหันมาทำอาชีพเสริม โดยการปลูกพืชไร่แซมในพื้นที่ว่างข้างบ้าน และปลูกพืชระยะสั้นแซมในสวนยางพาราที่ขอทุนสงเคราะห์ใหม่ 
 

 
ซึ่งบางแปลงชุมชนได้มีการแบ่งปันให้เพื่อนบ้านที่ไม่มีที่ปลูกพืชระยะสั้น ก็ได้แบ่งพื้นที่ให้เพื่อปลูกพืชแซมในร่องสวน และเป็นการแบ่งปันกันในชุมชน สามารถอยู่ร่วมกัน และสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว โดยเฉพาะการปลูกต้นแส้ ที่เป็นพืชประจำถิ่น และปลูกได้แห่งเดียวในจังหวัดพัทลุง ชาวบ้านในพื้นที่ ม.7 ได้หันมาปลูกแบบโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ย และสารเคมี ใช้เวลา 3 เดือนสามารถสร้างรายได้อย่างงาม 

ซึ่งวันนี้ราคาตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 35 บาท และมีตลาดแม่ค้ามารับชื้อถึงที่ โดยการนำไปขายเป็นผักสด และส่งขายไปตลาด อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ก่อนกระจายส่งไปยังประเทศมาเลเซียอีกทอดหนึ่ง และหลังจากชาวบ้านได้หันมาปลูกพืชไร่แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำให้ชาวบ้านที่นี่เริ่มยิ้มออก และมีรายได้เลี้ยงครอบครัวมากขึ้น
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น