xs
xsm
sm
md
lg

ผลสแกนเรดาร์พบวัตถุขนาดใหญ่เป็นแนวใต้พื้นดินคุกหญิงเชียงใหม่-แต่ไม่ฟันธงเป็นกำแพงเวียงแก้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้ช่วยศาสตราจารย์กฤษณ์ วันอินทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ทีมงานผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์พื้นพิภพจาก ม.เกษตรศาสตร์ เผยผลวิเคราะห์ข้อมูลเรดาร์สแกนตรวจชั้นใต้ดินของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ตามโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว เบื้องต้นพบแนววัตถุขนาดใหญ่หลายจุด แต่ยังฟันธงไม่ได้ว่าเป็นแนวกำแพงเวียงแก้วหรือไม่ ต้องรอการขุดค้นตรวจสอบอย่างละเอียด ขณะที่สำนักศิลปากรที่ 8 เตรียมนำข้อมูลที่ได้วางแผนขุดในระยะต่อไปให้ถูกจุด เผยการขุดค้นที่ผ่านมาพบหลักฐานน่าจะมีการใช้ประโยชน์อย่างน้อย 3 ยุคสมัยหลักตั้งแต่ล้านนา

ความคืบหน้าโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว ในส่วนของสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ที่รับผิดชอบการดำเนินงานทางโบราณคดีในพื้นที่เวียงแก้ว หรือทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ซึ่งมีการดำเนินงาน 4 กระบวนการ ได้แก่ การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์, การขุดค้นทางโบราณคดี (ขุดศึกษาอายุสมัยของพื้นที่), การขุดลอกชั้นดินทับถมทางโบราณคดี (ขุดลอกดินที่ทับถมโบราณสถานออก) และการบูรณะแนวกำแพงเวียงแก้วและโบราณสถานศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก โดยในส่วนของการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ ได้มีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ดำเนินงาน ใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และเรดาร์สแกนไปบนผิวดินเพื่อประมวลผล คาดการณ์ อาคารโบราณสถานที่อยู่ใต้ผิวดิน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กฤษณ์ วันอินทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวทีมงานสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ทางทีมงานได้ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า GPR (Ground Penetrating Radar) หรือเครื่องเรดาร์ทะลุพื้นดิน ทำการเดินสำรวจทั้งแนวยาวและแนวขวางบนพื้นดินทั่วพื้นที่ 5,300 ตารางเมตร ของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. 59 จากนั้นได้นำข้อมูลที่ได้จากการใช้เครื่องมือสแกนชั้นดินไปทำการประมวลและวิเคราะห์ผลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์และจัดทำเป็นแบบจำลองภาพสามมิติพบว่าในชั้นใต้ดินของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) มีวัตถุกระจายเต็มอยู่ทั่วพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ด้วยเป้าหมายที่ต้องการค้นหาแนวกำแพงเวียงแก้วเป็นสำคัญ จึงมุ่งเป้าไปที่การตรวจหาวัตถุที่มีขนาดใหญ่เป็นหลัก ซึ่งจากผลการสแกนชั้นดินพบว่ามีหลายจุดที่ว่ามีวัตถุขนาดใหญ่และมีแนวต่อเนื่องกันอยู่ เช่น บริเวณประตูทางเข้าของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่(เดิม), บริเวณศาลพระภูมิด้านใน, บริเวณที่ตั้งองค์พระพุทธรูปทางมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ หรือบริเวณบ้านพักทางด้านทิศตะวันออก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กฤษณ์บอกว่า วัตถุขนาดใหญ่และมีแนวต่อเนื่องกันที่เครื่องมือสแกนตรวจพบนั้น เบื้องต้นยังไม่สามารถระบุชี้ชัดลงไปได้ว่าเป็นแนวกำแพงเวียงแก้วหรือไม่ ทั้งนี้จะสามารถพิสูจน์แน่ชัดได้ก็ต่อเมื่อทำการขุดค้นตรวจสอบเท่านั้น เพราะงานในส่วนที่ทีมงานสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ดำเนินการไปก็คือการใช้เครื่องมือสำรวจโดยอ้างอิงจากแผนที่เวียงแก้วในรัชกาลที่ 5 จากนั้นจะนำข้อมูลที่ได้มาทำการประมวลผลและประเมินร่วมกับทางศิลปากรว่าอาจจะมีวัตถุโบราณและโบราณสถานอยู่ตรงจุดใดบริเวณใดบ้าง เพื่อวางแผนการทำงานในการขุดลอกชั้นดินและขุดค้นทางโบราณคดีได้อย่างตรงจุด ซึ่งแม้จะไม่สามารถบอกได้ว่าวัตถุที่อยู่ใต้ดินนั้นเป็นอะไร แต่ก็ทำให้วางแผนการทำงานในการขุดค้นได้ง่ายขึ้น

นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากนี้จะนำผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการใช้เครื่องมือสแกนชั้นดินไปวางแผนการขุดค้นขุดแต่งในระยะต่อไป ซึ่งจะกลับมาเริ่มดำเนินการได้อีกครั้งหลังจากที่ทำการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างและตัวอาคารตามแผนงานโครงการออกไปแล้ว ทั้งนี้ จากการขุดค้นที่ผ่านมาพบหลักฐานว่าพื้นที่แห่งนี้น่าจะมีการใช้ประโยชน์อย่างน้อย 3 ยุคสมัยหลักๆ ได้แก่ สมัยล้านนา, สมัยรัชกาลที่5-รัชกาลที่ 6 และสมัยปัจจุบัน โดยหลักฐานสำคัญที่ทำให้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะมีการใช้ประโยชน์พื้นที่แห่งนี้มาตั้งแต่สมัยล้านนาก็คือเศษเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์หยวน ราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศษเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์หยวนที่มีอายุเก่าแก่ประมาณ พ.ศ. 1800 กว่าๆ ซึ่งตรงกับช่วงต้นของสมัยล้านนาพอดี อย่างไรก็ตามไม่สามารถระบุได้ว่าในสมัยล้านนานั้นพื้นที่แห่งนี้ถูกใช้ประโยชน์อย่างไร

นอกจากนี้ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในการขุดค้นบริเวณที่พบอิฐที่มีการก่อเป็นแนว ซึ่งเบื้องต้นสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นกำแพงหรือส่วนของสิ่งก่อสร้างอย่างหนึ่งอย่างใดนั้น ยังพบสิ่งที่น่าสนใจอีกด้วยอยู่ตรงบริเวณฐานรากของแนวอิฐดังกล่าวที่พบชั้นของถ่านสีดำที่เกิดจากการเผาทับถมกันอยู่ด้วย ปะปนกับเศษกระเบื้องมุงหลังคาและเศษหม้อเศษไห ดูคล้ายการบดอัดเพื่อปรับพื้นที่ก่อนที่จะทำการก่อสร้าง ทั้งนี้จะมีการส่งตัวอย่างถ่านที่พบไปทำการตรวจทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาอายุ ซึ่งเมื่อทราบแล้วก็จะทำให้สามารถประมาณอายุของแนวอิฐที่สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นกำแพงได้ในลำดับต่อไป



นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่



กำลังโหลดความคิดเห็น