xs
xsm
sm
md
lg

รองอธิบดี ทช.เผยพบฟอกขาวทั้งหมด 81 จุด ใน 12 จังหวัดทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - รองอธิบดี ทช.นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูปะการังฟอกขาวเกาะมันที่ระยอง ระบุชัดพบปะการังฟอกขาวรวมทั้งหมด 81 จุด ใน 12 จังหวัด ทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน ในจำนวนนี้อยู่ในขั้นวิกฤตมี 33 จุด คือ ที่ชุมพร กับสุราษฎร์ธานี หลังพบปะการังฟอกขาวครั้งแรกเมื่อต้นเดือนมีนาคม ที่เกาะทะลุ ประจวบฯ พร้อมเดินหน้าทำความเข้าใจต่อผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำให้เกิดความเข้าใจ เพื่อให้ปะการังที่ฟอกขาวมีโอกาสรอดจากการตายให้ได้สูงสุด

วันนี้ (31 พ.ค.) นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พร้อมด้วย ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายนิพนธ์ พงศ์สุวรรณ ผู้อํานวยการสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (สทช.) และนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน (สวพ.) ได้นำคณะสื่อมวลชนสัญจรลงพื้นที่จังหวัดระยอง พร้อมบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในปัจจุบัน และพาคณะสื่อมวลชนลงเรือทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 804 ไปยังเกาะมันใน เพื่อเยี่ยมชมสถานเพาะเลี้ยงปะการัง และลงพื้นที่ดำน้ำดูปะการังที่เกิดการฟอกขาวในบริเวณเกาะมันใน และเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง

นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทาง ทช.ได้ติดตามเฝ้าระวังการเกิดปะการังฟอกขาวมาโดยตลอด ซึ่งผลจากการสำรวจของนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และเครือข่ายอาสาสมัคร พบปะการังเริ่มฟอกขาวครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ที่บริเวณเกาะทะลุ อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ต่อมา ในช่วงกลางเดือนเมษายน พบปะการังฟอกขาวเพิ่มเติมบริเวณอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน รวมทั้งเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบปะการังฟอกขาวในระดับรุนแรงที่บริเวณจังหวัดระยอง บริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก หมู่เกาะมันใน และเกาะแสมสาร 30-40 เปอร์เซ็นต์ของปะการังมีชีวิต ทั้งปะการังโขด ปะการังลายดอกไม้ ปะการังวงแหวน และปะการังเขากวาง

นอกจากนี้ ยังพบว่า หอยมือเสือฟอกขาวเช่นกัน อาจกล่าวได้ว่า ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวของประเทศไทยในปี 2559 ได้เกิดในวงกว้าง จากข้อมูลอุณหภูมิน้ำทะเลพบว่า ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิน้ำทะเลเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 เดือนกุมภาพันธ์ 2559 เท่ากับ 28.5 เดือนมีนาคม 2559 เท่ากับ 30.2 เดือนเมษายน 2559 เท่ากับ 31.9 เดือนพฤษภาคม 2559 เท่ากับ 32.4 จนถึง 25 พฤษภาคม 2559 และสูงสุดที่ 33.85 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ซึ่งปัจจุบัน อุณหภูมิน้ำทะเลเฉลี่ลดลง 1-2 องศาเซลเซียส

อีกทั้งบางพื้นที่ ทช.ยังพบปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรงมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ โดยพบจุดแรกบริเวณเกาะพร้าว จังหวัดชุมพร

นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวต่อว่า จากการสำรวจพบมีปะการังฟอกขาวรวมทั้งหมด 81 จุด 12 จังหวัด ในจำนวนนี้พบมีการฟอกขาวในระดับวิกฤต 33 จุด ได้แก่ เกาะง่ามน้อย เกาะง่ามใหญ่ เกาะไข่ เกาะรางบรรทัด เกาะมะพร้าว เกาะกุลา จังหวัดชุมพร และแหลมคอกวาง หินละแม หินแต้ม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ฯลฯ และอยู่ในระดับรุนแรง 48 จุด

ทั้งหมดนี้ทำให้ทาง ทช.ต้องใช้มาตรการเร่งด่วน โดยใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 มาตรา 17 ในการลดผลกระทบ และภัยคุกคามจากมนุษย์ที่มีต่อแนวปะการังในช่วงวิกฤตนี้ เพื่อให้ปะการังที่ฟอกขาวมีโอกาสรอดจากการตายให้ได้สูงสุด โดยการดำเนินการห้ามทำกิจกรรม 13 ข้อห้ามที่ประกาศไปแล้ว โดยในวันที่ 6 มิถุนายน 2559 จะลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำเกาะทะลุ ที่ห้องประชุมอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อทำความเข้าใจถึงมาตรการต่างๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีการปิดเกาะทะลุแต่อย่างใด ยังคงทำกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำได้แต่อยู่ในกฎกติกาที่ประกาศใช้

ด้าน นายอภิชาติ หงษ์สกุล เจ้าหน้าที่มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากร ทะเลสยาม กล่าวว่า ในวันที่ 8-9 มิถุนายน 2559 นี้ทางมูลนิธิฯ จะร่วมทำการสำรวจแนวปะการังที่บริเวณเกาะสิงห์ เกาะสังข์ และเกาะทะลุ ที่เกิดปะการังฟอกขาว ร่วมกับทางศูนย์นวัตกรรมอุทยานแห่งชาติและพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง ชุมพร เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 เพชรบุรี ทั้งนี้ เนื่องจากเกาะสิงห์ และเกาะสังข์ ยังไม่มีการสำรวจว่าเกิดการฟอกขาวหรือไม่ เพื่อเป็นฐานข้อมูลเพราะหากพบมีการฟอกขาวก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานอย่าง ทช.ต้องพิจารณาต่อไปว่าต้องประกาศเพิ่มเติมหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น