ประจวบคีรีขันธ์ - ทช.ประกาศ 13 มาตรการระงับความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรปะการัง หลังเกิดสภาวะวิกฤตปะการังฟอกขาวใน 7 พื้นที่ เกาะมัน เกาะทะลุ เกาะเหลี่ยม เกาะไข่ เกาะราชาใหญ่ เกาะไม้ท่อน และแหลมพันวา ส่วนผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำลึกต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวฯ ผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวดำน้ำตื้นจะต้องไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการัง พร้อมจัดส่ง จนท. และชุดปฏิบัติการพิเศษฉลามขาวลงตรวจตรา 7 พื้นที่
วันนี้ (24 พ.ค.) นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นประธานการประชุมคณะทำงานชุดปฏิบัติการพิเศษฉลามขาว พร้อมด้วยคณะทำงานผู้ที่เกี่ยวข้องระดับผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการส่วน และหัวหน้ากลุ่ม จากสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1-7 และกลุ่มนิติการ เข้าร่วมประชุมหารือ ณ ห้องประชุมลำแพน ชั้น 9 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นการประชุมเพื่อติดตาม เร่งรัด ให้คำปรึกษา แนะนำ และแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงานของชุดปฏิบัติการพิเศษฉลามขาว ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเตรียมปฏิบัติการตามมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่กำหนดเพื่อคุ้มครอง และฟื้นฟูทรัพยากรใน 7 พื้นที่ เกาะมันใน จังหวัดระยอง เกาะทะลุ เกาะเหลี่ยม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เกาะไข่ จังหวัดชุมพร เกาะราชาใหญ่ เกาะไม้ท่อน และแหลมพันวา จังหวัดภูเก็ต ซึ่งอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
นายโสภณ กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า ในปัจจุบันอุณหภูมิน้ำทะเลฝั่งอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามันมีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติจนเกิดปะการังฟอกขาว ซึ่งหากปะการังตายลงจะส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในประเทศไทย วิถีชีวิตชุมชนชายฝั่ง การท่องเที่ยวทางทะเล
ในปัจจุบัน พบว่า ยังมีกิจกรรมของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อปะการังในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งการท่องเที่ยวดำน้ำ การประมง การทิ้งมลพิษ และขยะทะเล การเหยียบย่ำปะการัง ซึ่งตามหลักทางวิชาการในช่วงที่วิกฤตของปะการังนี้กิจกรรมดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อปะการัง
สำหรับมาตรการที่ประกาศใช้รวม 13 ข้อ คือ 1.ห้ามจอดเรือโดยการทิ้งสมอเรือบริเวณแนวปะการัง 2.ห้ามทิ้งขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย มลพิษ ลงในทะเลที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำทะเลอันจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง 3.ห้ามการขุดลอกร่องน้ำในแนวปะการัง
4.ห้ามการกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดตะกอนลงสู่แนวปะการังอันจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการัง 5.ห้ามค้นหา ล่อ จับได้มาเก็บสัตว์น้ำ หรือการกระทำใดๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อล่อจับได้มาหรือเก็บสัตว์น้ำในบริเวณแนวปะการัง
6.ห้ามการให้อาหารปลา และสัตว์น้ำในแนวปะการัง 7.ห้ามการเดินเหยียบย่ำปะการัง 8.ห้ามการเก็บหรือทำลายปะการัง เว้นแต่เพื่อการกระทำเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการ 9.บุคคล หรือผู้ประกอบการกิจการท่องเที่ยวดำน้ำตื้นจะต้องไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการัง 10.ผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวดำน้ำลึกต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวจากสำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ และจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข และหลักการของสถาบันการเรียนการสอนดำน้ำสากล
11.ผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามตามคำสั่งนี้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามความในมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558
12.ให้พนักงาน และเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ดำเนินการตามคำสั่งนี้ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายภายในท้องที่ที่รับผิดชอบ และ 13 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และมีระยะเวลาบังคับใช้จนกว่าสถานการณ์ปะการังฟอกขาวจะกลับสู่สภาวะปกติ และความเสียหายระงับสิ้นไป
ด้าน นายเผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ ผจก.ฝ่ายการตลาด เกาะทะลุ ไฮแลนด์ รีสอร์ท อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า มาตรการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ประกาศใช้แล้วเท่าที่ทราบ และมีการศึกษาส่วนตัวเห็นว่า เป็นแนวที่ดีในการที่จะช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่ใช้เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะในช่วงที่ปะการังเกิดสภาวะฟอกขาวในขณะนี้ อีกทั้งหากผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวทำตามกฎระเบียบ เชื่อว่า นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมดำน้ำดูปะการังจะเกิดความเข้าใจ
“ผมเห็นว่าเป็นผลดีมากกว่าผลเสียสำหรับประกาศของ ทช.ในครั้งนี้ และเชื่อว่าในช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ปะการังที่เกิดการฟอกขาวบางส่วนน่าจะกลับฟื้นเหมือนเดิม”