ประจวบคีรีขันธ์ - จนท.มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม ลงสำรวจบริเวณโดยรอบเกาะทะลุ แหล่งดำน้ำดูปะการังน้ำตื้นที่ขึ้นชื่อของทะเลอ่าวไทยตอนกลาง อำเภอบางสะพานน้อย พบปะการังเขากวางส่วนใหญ่เกิดฟอกขาว 80-90 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งปะการังชนิดอื่นก็เริ่มพบการฟอกขาวแล้วเช่นกัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุ เกิดจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงกว่าปกติในช่วงเดือนเมษายน-เดือนมีนาคมที่ผ่านมา
วันนี้ (24 พ.ค.) ที่บริเวณเกาะทะลุ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นแหล่งดำน้ำที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของทะเลอ่าวไทยตอนกลาง เนื่องจากเป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการดำน้ำตื้นนิยมเดินทางมาดำน้ำในพื้นที่ด้านหน้าของเกาะทะลุเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในช่วงวันหยุด และเทศกาลต่างๆ
ผู้สื่อข่าวรับแจ้งจาก นายเผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ เลขามูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม และพนักงานของเกาะทะลุ ไฮแลนด์ รีสอร์ท ว่า ขณะนี้แนวปะการังเขากวางทั้งที่ปลูกในท่อพีวีซี และแนวปะการังเขากวางธรรมชาติ ได้เกิดสภาวะฟอกขาวเฉลี่ย 80-90 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด พร้อมพาผู้สื่อข่าวลงดำสำรวจใต้น้ำทะเลในระดับความลึกที่ 2-4 เมตร ห่างจากชายฝั่งของหาดเกาะทะลุประมาณ 300-500 เมตร พบว่า ปะรังเขากวางที่มีความสวยงามซึ่งปกติมีสีน้ำตาล แต่ขณะนี้พบว่า แต่ละจุดกลายเป็นสีขาวหมดแล้ว และมีบางส่วนเริ่มตายลง บางส่วนที่เหลือก็เริ่มเกิดฟอกขาวเพิ่มเติม ในส่วนของกลุ่มปะการังเขากวางจะไวต่อการเกิดการฟอกขาวมากกว่าปะการังชนิดอื่นๆ ซึ่งผลกระทบจากการเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในครั้งนี้อาจส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล และส่งผลกระทบต่อกิจกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะการดำน้ำชมปะการังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นายเผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ เลขามูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม เจ้าหน้าที่มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม และพนักงานของรีสอร์ตที่นี่ กล่าวว่า ปะการังบริเวณด้านหน้าของชายหาดเกาะทะลุ ได้เกิดฟอกขาวมานานเกือบ 2 เดือนแล้ว ในช่วงที่มีอุณหภูมิน้ำทะร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายน-มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งจากข้อมูลย้อนหลังไปเมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา บริเวณเกาะสิงห์ และเกาะสังข์ รวมทั้งเกาะทะลุ ก็เกิดการฟอกขาวมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ก็ฟื้นมาได้เป็นบางส่วน และมีการปลูกปะรังเขากวางในท่อพีวีซีเพิ่มเติมเป็นบางส่วนเพื่อทดแทนปะการังที่ตายไป
อย่างไรก็ตาม เลขามูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม กล่าวว่า ขณะนี้ได้งดกิจกรรมการปลูกปะการังในท่อพีวีซี และได้มีการสำรวจแนวปะการังที่เกิดการฟอกขาวเป็นระยะ และยังพบว่า นอกจากปะการังเขากวางที่เกิดฟอกขาวแล้ว ปะการังชนิดอื่นๆ ก็เริ่มเกิดการฟอกขาวแล้วเช่นกันโดยเฉพาะปะการังสมอง
ขณะเดียวกัน นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ทช.พบว่า ที่ผ่านมา อุณหภูมิน้ำน้ำทะเลฝั่งอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามันมีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ จากการสำรวจในเบื้องต้นพบว่า เกิดปะการังฟอกขาวใน 7 พื้นที่ ได้แก่ ที่เกาะมันใน จังหวัดระยอง เกาะทะลุ และเกาะเหลี่ยม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เกาะไข่ จังหวัดชุมพร เกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต แหลมพันวา จังหวัดภูเก็ต รวมถึงเกาะไม้ท่อน จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีแนวโน้มว่าปะการังที่เกิดการฟอกขาวในครั้งนี้มีแนวโน้มจะตายลงในเวลา 1 เดือน ขึ้นอยู่กับชนิด และพันธุกรรมของปะการัง