xs
xsm
sm
md
lg

ทส.ออกมาตรการคุมเข้มนำเที่ยวเกาะไข่ ลดความเสียหายระบบนิเวศปะการัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ออกมาตรการเข้มคุมผู้ประกอบการนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ห้ามดำเนินกิจกรรมที่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศทางทะเล และชายฝั่งบริเวณพื้นที่กลุ่มเกาะไข่ จ.พังงา หลังพบแนวปะการังเสียหายกว่า 70-80% มีสภาพเสื่อมโทรม ฟื้นตัวยาก

วันนี้ (23 พ.ค.) นายวัชรินทร์ ณ ถลาง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นประธานการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกลุ่มผู้ประกอบการนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ ต่อคำสั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ 443/2559 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 เรื่องกำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการระงับความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งบริเวณพื้นที่เกาะไข่นอก เกาะไข่นุ้ย และเกาะไข่ใน อ.เกาะยาว จ.พังงา เพื่อให้ผู้ประกอบการนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ที่ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดพังงา และพื้นที่ใกล้เคียงได้รับทราบแนวทาง และทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อปฏิบัติตามมาตรการฯ ดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง และให้นำเที่ยวอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง

ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งได้รายงานต่อที่ประชุมถึงสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งพื้นที่เกาะไข่ใน เกาะไข่นอก และเกาะไข่นุ้ย จังหวัดพังงา ทราบว่า ปัจจุบันมีการเพิ่มของเรือสปีดโบต จำนวน 60 ลำโดยประมาณ และมีร้านค้า ร้านอาหารเกิดขึ้นตามมามากมาย ส่วนลักษณะของการใช้ประโยชน์บริเวณกลุ่มเกาะไข่ ซึ่งใช้เวลา 3 ชั่วโมง มีทั้งเล่นน้ำ ว่ายน้ำ ดูปะการัง ให้อาหารปลา ส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะการทำลายแนวปะการัง ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล และชายฝั่ง

และจากการสำรวจทรัพยากรปะการัง บริเวณเกาะไข่ใน ซึ่งมีทรัพยากรปะการัง จำนวน 120 ไร่ ขณะที่บริเวณเกาะไข่นอก มีจำนวน 109 ไร่ และบริเวณเกาะไข่นุ้ย มีจำนวน 17 ไร่ นั้นพบว่า ปะการังหายไปเยอะมาก มีการฟื้นตัวน้อย สาเหตุความเสียหายของแนวปะการังบริเวณกลุ่มเกาะไข่ เกิดจากธรรมชาติส่วนหนึ่ง เช่น ปะการังฟอกขาว เป็นต้น และเกิดจากกิจกรรมของคน เช่น การขยายตัวมากของนักท่องเที่ยว การทิ้งสมอในแนวปะการัง เหยียบย่ำปะการังในช่วงน้ำลง ให้อาหารปลา จับปลา และสัตว์ทะเลขึ้นมาถ่ายรูป ซึ่งมีผลต่อระบบนิเวศปะการัง ได้รับความเสียหายประมาณ 70-80% มีสภาพเสื่อมโทรม ฟื้นตัวยาก

ขณะที่ นายสุชาติ รัตนเรืองศรี ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 (สบทช.6) กล่าวว่า จากการลงไปปฏิบัติงานพื้นที่เกาะไข่ ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยังพบมีการให้อาหารปลา และมีการเก็บซากปะการังอยู่ แต่ไม่พบว่ามีการทิ้งสมอเรือบนแนวปะการัง เรือนำเที่ยวให้ความร่วมมือนำนักท่องเที่ยวส่งบนเกาะ แล้วนำเรือไปผูกทุ่นตามจุดที่กำหนดไว้ ขณะที่ในเรื่องของร่มผ้าใบ เตียง เก้าอี้ บริเวณชายหาด ขณะนี้อยู่ระหว่างรื้อถอน ซึ่งจะมีการรื้อถอนออกทั้งหมด ส่วนร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ ก็ต้องมีการรื้อถอนเช่นเดียวกัน ซึ่งจะมีการประสานกับทางป่าไม้เพื่อดำเนินการรื้อถอนต่อไป

ด้านกลุ่มผู้ประกอบการนำเที่ยว และมัคคุเทศก์พร้อมถือปฏิบัติตามมาตรการภายใต้คำสั่งดังกล่าว และได้มีการเสนอให้ทางราชการติดประกาศข้อห้ามทั้งหมดเป็นภาษาไทย จีน อังกฤษ รัสเซีย เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทราบ และถือปฏิบัติ นอกจากนี้ ให้มีการกำหนดร่องน้ำในการนำเรือเข้าออก ส่วนเรื่องการผูกทุ่นจอดเรือได้มีการเสนอให้ผู้ประกอบการร่วมลงขันดำเนินการเรื่องทุ่นจอดเรือเพิ่มเติมจากในส่วนที่ทางราชการดำเนินการผูกไปแล้ว จำนวน 40 ชุด ด้วย เสนอให้มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้าไปกำกับดูแล เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการฯ และนักท่องเที่ยวไม่ประกอบกิจกรรมทางน้ำที่ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศปะการัง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น