รมว.พม.ลงพื้นที่ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองชุมแพติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐของรัฐบาล ชูเมืองชุมแพเป็นต้นแบบสร้างชุมชนเข้มแข็ง แก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ทำแปลงนารวม โรงงานผลิตน้ำดื่ม กองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย รวมทุนกว่า 550 ล้านบาท หนุนชาวบ้าน “กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้ลด”
วันนี้ (19 ก.พ.) เวลา 09.00 น. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และคณะ ได้เดินทางมาที่เทศบาลเมืองชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เพื่อติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐของรัฐบาล โดยมีนายสมพร ใช้บางยาง ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นายกำธร ถาวรสถิต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น คณะผู้บริหารเทศบาลเมืองชุมแพ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนกว่า 1,000 คนให้การต้อนรับ หลังจากนั้น พล.ต.อ.อดุลย์ได้เยี่ยมชมแปลงนารวม ชมนิทรรศการการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ทำพิธีมอบบ้านมั่นคงจำนวน 13 ชุมชน และทำพิธีเปิดป้ายโรงงานผลิตน้ำดื่มชุมชน
พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ขอแสดงความยินดีที่ชาวชุมชนในเขตเทศบาลเมืองชุมแพร่วมกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยจนประสบความสำเร็จ ก้าวพ้นจากปัญหาเรื่องความไม่มั่นคง ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือเป็นชุมชนบุกรุก โดยชาวชุมชนได้ร่วมกันจัดทำโครงการบ้านมั่นคงมาตั้งแต่ปี 2547 โดยมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. และเทศบาลเมืองชุมแพให้การสนับสนุนและส่งเสริม จนทำให้ชาวชุมชนสามารถปลูกสร้างบ้านบนที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวม 13 ชุมชน จำนวน 920 หลัง
รมว.พม.ยังกล่าวว่า ชาวชุมชนยังได้ร่วมกันระดมทุนจัดซื้อที่นาเพื่อทำนารวม เนื้อที่ 38 ไร่ สามารถปลูกข้าวเอาไว้กินเอง และขายได้เงินมากกว่าปีละ 2 แสนบาท ทั้งยังร่วมกันจัดตั้งโรงงานผลิตน้ำดื่มเพื่อขายเป็นรายได้เข้าสู่ชุมชน รวมทั้งยังมีกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย กองทุนสวัสดิการชุมชน และกองทุนอื่นๆ เพื่อเอาไว้ช่วยเหลือดูแลกันเอง ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เป็นต้นแบบที่ดีที่ชุมชนอื่นๆ สามารถนำไปใช้เป็นแบบอย่างในการพัฒนาชุมชน ถือเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากที่ชุมชนเป็นผู้ริเริ่ม โดยมีหน่วยงานรัฐและเอกชนให้การสนับสนุน ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และ พอช. รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะนำไปขยายผลให้เกิดพื้นที่แบบนี้ทั่วประเทศ
นายสมพร ใช้บางยาง ประธานกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า พอช.มีบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและทุนชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง มีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการตนเองได้ ซึ่งที่ผ่านมา พอช.ได้สนับสนุนชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น เรื่องสภาองค์กรชุมชน, สวัสดิการชุมชน, การแก้ไขปัญหาที่ดินชนบท, การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง, การพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน ฯลฯ
โดยในปี 2559 จะมีแผนงานที่สำคัญ เช่น 1. การสนับสนุนพื้นที่รูปธรรมให้เกิดการพัฒนากิจกรรมเชิงเศรษฐกิจตามบริบทพื้นที่ และฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจชุมชนในมิติต่างๆ จำนวน 336 ตำบล 2. สนับสนุนกระบวนการสำรวจข้อมูลและจัดทำแผนพัฒนา/ฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจเชื่อมโยงระดับภาคและจังหวัด จำนวน 1,100 ตำบล 3. บริหารจัดการและพัฒนาระบบการติดตาม เช่น การวิจัยการพัฒนานวัตกรรมเชิงเศรษฐกิจและทุนชุมชน ฯลฯ และ 4. การเชื่อมโยงเครือข่ายและประสานงานการพัฒนา โดยใช้งบประมาณรวม 85 ล้านบาท
“วิสัยทัศน์ของ พอช.ก็คือ ให้คนในชุมชน กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้ลด ครอบครัวมั่นคง ชุมชนมั่งคั่ง ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีการจัดการตนเอง และพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในปีนี้เราตั้งเป้าหมายว่าจะมีตำบลที่มีแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนจำนวน 1,100 ตำบล และตำบลรูปธรรมที่มีการเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจเพื่อสังคมอีก 500 ตำบลทั่วประเทศ” นายสมพรกล่าว
นางสนอง รวยสูงเนิน ประธานเครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองชุมแพ กล่าวว่า วันนี้ชาวชุมชนบ้านมั่นคงในเขตเทศบาลเมืองชุมแพมีความรู้สึกภูมิใจที่มีบ้านเป็นของตัวเอง เพราะก่อนหน้านี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องเช่าบ้านอยู่ หรือปลูกสร้างบ้านเรือนในที่ดินบุกรุก มีฐานะยากจน หาเช้ากินค่ำ เฉพาะครอบครัวของตนเองเคยเช่าห้องอยู่อาศัยตั้งแต่ราคาเดือนละ 600 บาทจนถึง 3,000 บาท ทำให้ไม่มีเงินเหลือเก็บ และไม่คิดว่าจะมีบ้านเป็นของตัวเอง แต่เมื่อ พอช.มีโครงการบ้านมั่นคงจึงทำให้คนจนมีที่อยู่อาศัย มีอาชีพ มีรายได้ และมีวิสาหกิจชุมชนที่ชาวบ้านร่วมกันทำ
“การทำงานเรื่องบ้านมั่นคงเป็นงานละเอียด ต้องทำงานกับคนจน สร้างความเข้าใจเรื่องการออมเงิน ทำให้พี่น้องเห็นว่าการออมเงินจะไม่สูญเปล่า การบริหารจัดการของคณะกรรมการต้องชัดเจน โปร่งใส ทำให้ชาวบ้านเชื่อถือ ที่สำคัญชาวบ้านจะต้องสร้างทุนของตัวเอง ไม่หวังทุนจากภายนอกเพียงอย่างเดียว” ประธานเครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองชุมแพกล่าว
ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองชุมแพมีทั้งหมด 38 ชุมชน ประชากรรวมประมาณ 32,044 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง ค้าขาย และทำนา ชาวบ้านรุ่นแรกๆ เข้ามาบุกเบิกที่อยู่อาศัยมานานไม่ต่ำกว่า 50 ปี ส่วนใหญ่เป็นที่ดินของราชพัสดุ อยู่ในฐานะของผู้บุกรุกหรือบ้านเช่า มีฐานะยากจน ไม่มีที่ดินทำกินจึงต้องอพยพจากชนบทเข้ามาอยู่ในเมือง จนเกิดเป็นชุมชนแออัด
ในปี 2546 พอช.เริ่มโครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ส่วนในเขตเทศบาลเมืองชุมแพเริ่มต้นในปี 2547 โดยเทศบาลเมืองชุมแพให้การสนับสนุน ชาวบ้านจึงรวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อระดมทุนในการสร้างบ้าน มีสถาปนิกชุมชนของ พอช.มาร่วมออกแบบบ้าน ในปี 2548 จึงเริ่มสร้างบ้านมั่นคงจำนวน 8 ชุมชน รวม 395 ครัวเรือน โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อรายละ 80,000-180,000 บาท ขนาดบ้านประมาณ 20 ตารางวา ผ่อนชำระคืนภายใน 15 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี
ปัจจุบันมีชุมชนที่สร้างบ้านมั่นคงแล้ว 13 ชุมชน รวม 920 หลัง มูลค่าบ้านและที่ดินเพิ่มจากเดิมหลังละ 230,000-250,000 บาท เป็น 400,000-500,000 บาท หรือคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งหมดประมาณ 468 ล้านบาทเศษ
จากโครงการบ้านมั่นคง ในปี 2550 ชาวชุมชนได้ร่วมกันก่อตั้ง “กองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองชุมแพ” โดยให้ชาวบ้านเข้าร่วมเป็นสมาชิกและสมทบเงินเข้ากองทุนทุกเดือน แล้วนำเงินกองทุนให้สมาชิกกู้ยืมหมุนเวียนเพื่อประกอบอาชีพ ปลดหนี้นอกระบบ ซ่อมแซมบ้าน เพื่อการศึกษา ฯลฯ วงเงินไม่เกิน 5 เท่าของหุ้นสะสมที่สมาชิกมีอยู่ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 บาทต่อปี ส่วนผลกำไรก็จะกลับคืนมาช่วยเหลือสมาชิก ปัจจุบันมีกองทุนฯ รวมประมาณ 37 ล้านบาทเศษ ทั้งนี้เทศบาลเมืองชุมแพได้สนับสนุนเงินเข้ากองทุนจำนวน 2 ล้านบาท และมูลนิธิศูนย์ศึกษาและพัฒนาที่อยู่อาศัยแห่งเอเซียสมทบ 1 ล้านบาท
ปี 2553 ชาวชุมชนได้เล็งเห็นความมั่นคงด้านอาหารจึงนำไปสู่การซื้อที่ดินเพื่อทำนารวม เนื้อที่ 38 ไร่ โดย พอช.ได้สนับสนุนสินเชื่อจำนวน 2.6 ล้านบาท มีชาวบ้านลงหุ้น 150 หุ้นๆ ละ 150 บาทเพื่อเป็นทุนในการทำนา และช่วยกันลงแรงทำนา ปัจจุบันสามารถปลูกข้าวได้ปีละประมาณ 30 เกวียน ขายเป็นรายได้เข้ากองทุนปีละกว่า 200,000 บาท ปัจจุบันที่นามีราคากว่า 38 ล้านบาท
ในปี 2558 ชาวชุมชนได้ร่วมกันจัดตั้งโรงงานผลิตน้ำดื่มชุมชน โดยการระดมหุ้นได้เงินประมาณ 800,000 บาท มีกำลังการผลิตประมาณวันละ 200 โหล เริ่มจำหน่ายตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สามารถทำรายได้เข้าชุมชนประมาณเดือนละ 250,000 บาท มูลค่าการลงทุนประมาณ 1.4 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนปลดเปลื้องหนี้สินนอกระบบ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มออมทรัพย์เด็ก ฯลฯ รวมเป็นทุนและสินทรัพย์ทั้งหมดประมาณ 550 ล้านบาทเศษ