หลังยืดเยื้อมานานกว่า 4 ปี วันนี้จะเป็นวันแรกที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในการเปิดตัว “กองทุนการออมแห่งชาติ” หรือ กอช. โดยวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง กอช.เพื่อต้องการส่งเสริมให้ประชาชนที่ไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญได้สร้างหลักประกันหลังเกษียณของตนเอง
โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น เกษตรกร ค้าขาย รับจ้างทั่วไป คนขับรถแท็กซี่ แม่บ้าน สถาปนิก แพทย์ ทนายความ ลูกจ้างรายวันหรือรายสัปดาห์ของบริษัทเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการที่ไม่ใช่ลูกจ้างรายเดือน ลูกจ้างชั่วคราวรัฐวิสาหกิจที่ไม่เข้าประกันสังคม นักการเมือง (ส.ส.) นักการเมืองท้องถิ่น ได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาชิกสภาจังหวัด นายกเทศมนตรี สมาชิกสภาเทศมนตรี สามารถสมัครเข้ากองทุนการออมแห่งชาติได้
โดยผู้เป็นสมาชิกต้องจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่าครั้งละ 50 บาท แต่เมื่อรวมกันแล้วใน 1 ปีต้องไม่เกิน 13,200 บาท หรือไม่เกินเดือนละ 1,100 บาท โดยรัฐบาลจ่ายเงินสมทบตามระดับอายุของสมาชิก และเป็นอัตราส่วนกับจำนวนเงินสะสม โดยมีอัตราตามที่กำหนดในบัญชีเงินสมทบท้ายพระราชบัญญัติ และเมื่อรวมกันแล้วในปีหนึ่งๆ ต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบสูงสุดที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ซึ่งกำหนดไว้ดังนี้
สมาชิกที่อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีแต่ไม่เกิน 30 ปี ได้รับเงินสมทบร้อยละ 50 ของเงินที่สะสมเข้ากองทุน แต่ไม่เกินปีละ 600 บาท
สมาชิกที่อายุมากกว่า 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี ได้รับเงินสมทบร้อยละ 80 ของเงินที่สะสมเข้ากองทุน แต่ไม่เกินปีละ 960 บาท
สมาชิกที่อายุมากกว่า 50 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี ได้รับเงินสมทบร้อยละ 100 ของเงินที่สะสมเข้ากองทุน แต่ไม่เกินปีละ 1,200 บาท
เงินของสมาชิกที่ส่งไปนั้นรัฐบาลจะรับประกันให้สมาชิกได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการนำเงินสะสมและเงินสมทบไปลงทุนไม่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 12 เดือนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่ 5 แห่ง ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
สำหรับผู้ที่ต้องการออมเงินผ่านกองทุนการออมแห่งชาติสามารถสมัครและออมเงินได้ที่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ทั่วประเทศ ใช้หลักฐานการสมัครเพียงแค่บัตรประชาชนเท่านั้น
มาตรา 40 ของประกันสังคม VS กอช.
หลายคนอาจจะสงสัยว่าความแตกต่างของประกันสังคมมาตรา 40* กับ กอช.นั้นแตกต่างกันอย่างไร สำหรับมาตรา 40 ของประกันสังคม คือ การที่จะได้บำนาญนั้นต้องจ่ายเงินสมทบมากกว่า 420 เดือน แต่ถ้าหากไม่ถึงตามที่กำหนดไว้ผู้ประกันตนมาตรา 40 จะได้เงินบำเหน็จแทน ข้อเสียของบำเหน็จคือในอนาคตมีแนวโน้มว่าผู้สูงอายุจะมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น หากได้รับเงินเพียงก้อนเดียวหลังจากเกษียณมีโอกาสสูงที่เงินจะมีไม่เพียงพอในการใช้จ่ายนั่นเอง
***ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่