อุบลราชธานี - ประธานสภา อบจ.ลงพื้นที่รับฟังปัญหาสาหร่ายบูมในลำโดมใหญ่ พบช่วงนี้ไม่มีปรากฏการณ์ แต่พร้อมนำข้อมูลที่ได้รับ ผลักดันให้รัฐจัดสรรงบประมาณใช้ขุดลอกลำน้ำเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
วันนี้ (8 ธ.ค.) ที่โรงงานแป้งมันสำปะหลัง บริษัท อุบลเกษตรพลังงาน จำกัด บ้านหนองแปน ต.นาดี อ.นาเยีย จ.อุบลราชธานี นางรำพูน ตันติวณิชชานนท์ ประธานสภาจังหวัดอุบลราชธานี นำสมาชิกสภาจังหวัดอุบลราชธานีติดตามถึงการเกิดปรากฏการณ์สาหร่ายบูมในลำน้ำโดมใหญ่ จากกลุ่มชาวบ้านและผู้นำท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ตามลำน้ำโดม รวมทั้งผลกระทบจากน้ำเสียในลำโดมใหญ่ ตามที่มีกลุ่มชาวบ้านและนักการเมืองท้องถิ่นออกมาร้องเรียนโรงงานปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำน้ำ
เบื้องต้นได้รับคำชี้แจง น.ส.กัณฑ์พร กรรณสูต ผู้อำนวยการสายงานสนับสนุนโรงงานแป้งมันสำปะหลังบริษัทอุบลเกษตรพลังงาน ในกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอลว่า โรงงานไม่มีการปล่อยน้ำเสียตามที่ถูกร้องเรียน แต่เคยเกิดเหตุบ่อผึ่งแดดของบ่อบำบัดน้ำเสียแตกไหลลงสู่ลำน้ำเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และได้แก้ไขปัญหา โดยสร้างผนังคอนกรีตกั้นไม่ให้น้ำเสียรั่วไหลลงสู่ลำน้ำโดมใหญ่ได้อีก ใช้งบประมาณดำเนินการไปกว่า 180 ล้านบาท
พร้อมยืนยันว่า ปัจจุบันน้ำในลำน้ำโดมใหญ่ยังใช้ได้ตามปกติ สำหรับการเกิดสาหร่ายบูมเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งตะกอนดินที่สะสมมานานหลายสิบปี สภาพอากาศที่เหมาะสม ส่วนการแก้ปัญหาได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีต้องขุดลอกลำน้ำเอาตะกอนดินที่อยู่ใต้ท้องน้ำขึ้นมา ซึ่งบริษัทได้หารือร่วมกับชุมชนและพร้อมช่วยขุดลอกลำน้ำ แต่ได้รับแจ้งจากกรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ไม่มีงบประมาณใช้ในการขุดลอก ทำให้ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข
ขณะที่ นายวรการณ์ สุวรรณไตรย์ สมาชิกสภาตำบลบ้านหนองแปน ตำบลนาดี ให้ข้อมูลกับคณะสมาชิกสภาจังหวัดว่า ปัจจุบันการเกิดสาหร่ายบูมเกิดเป็นบางช่วงของลำน้ำและเกิดบริเวณใกล้ตลิ่ง โดยเฉพาะบริเวณหาดทรายทอง บ้านสร้างแก้ว ต.โพธิ์ไทร ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขื่อนกั้นลำน้ำโดมใหญ่ เพราะเป็นจุดน้ำนิ่ง ส่วนผลกระทบไม่มาก เพราะชาวบ้านยังสามารถวางเบ็ดจับสัตว์น้ำได้
นายอุทัย นิปัจการสุนทร สาธารณสุขอำเภอนาเยีย ระบุว่า จากการตรวจสอบลำน้ำโดมใหญ่ในช่วงเหนือโรงงานขึ้นไป พบมีสาหร่ายเกาะกลุ่มเป็นแผ่นฟิล์มบางๆ ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และกระจายกันอยู่เป็นจุดๆ ไม่ได้เกิดตลอดทั้งลำน้ำ เมื่อหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมนำน้ำไปตรวจสอบคุณภาพ ก็ยืนยันว่าคุณภาพน้ำยังอยู่ในระดับมาตรฐาน ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ หรือประชาชนที่นำน้ำมาใช้แต่อย่างใด
ต่อมาคณะสมาชิกสภาจังหวัดได้นั่งเรือสำรวจลำน้ำโดมใหญ่เพื่อดูข้อเท็จจริง ซึ่งไม่มีปรากฏการณ์สาหร่ายบูมเกิดขึ้น และได้เก็บตัวอย่างน้ำส่งไปให้หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมวิเคราะห์เพิ่มเติม
ด้านนางรำพูน ตันติวณิชชานนท์ ประธานสภา อบจ.อุบลราชธานี กล่าวว่า จะนำข้อร้องเรียนและแนวทางการแก้ปัญหาเสนอให้กรมเจ้าท่าและหน่วยงานสิ่งแวดล้อมเร่งจัดสรรงบประมาณลงมาแก้ปัญหาตามที่ชาวบ้านต้องการอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสาหร่ายบูมอีกต่อไป
ก่อนหน้านี้ ดร.ปริญญา มูลสิน อาจารย์สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ให้ข้อมูลไว้ว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดสาหร่ายบูมเพราะสาหร่ายได้ธาตุอาหารสมบูรณ์ทั้งตะกอนดินที่มีอยู่เดิม และจากตะกอนดินน้ำเสียของโรงงานแป้งมันสำปะหลัง ประกอบกับน้ำมีอุณหภูมิเหมาะสม ทำให้เจริญเติบโตได้ดี
การเกิดสาเหร่ายบูมทำให้ลำน้ำมีออกซิเจนสูงในช่วงกลางวัน แต่มีผลเสียในช่วงกลางคืน เพราะสาหร่ายแย่งออกซิเยนกับสัตว์น้ำ วิธีแก้ปัญหาต้องขุดลอกลำน้ำนำเอาตะกอนดินที่เกิดการทับถมจากซากพืชซากสัตว์เป็นเวลานานหลายสิบปีออก หรือใช้วิธีกำจัดด้วยวิธีธรรมชาติ คือปล่อยให้สาหร่ายตายไปเองตามวัฏจักรที่เป็นห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำ แต่วิธีนี้ต้องใช้เวลานานแก้ปัญหา