อุบลราชธานี - ลำโดมใหญ่แล้งจนทำสาหร่ายโตเร็วกว่าปกติ นักวิชาการชี้เกิดจากตะกอนดินที่มีธาตุอาหารสมบูรณ์ทับถมเป็นเวลานานหลายสิบปี และมีตะกอนดินจากบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานแป้งมันที่แตกไหลลงสู่ลำน้ำ การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต้องขุดลอกเอาตะกอนดินที่อยู่ใต้ท้องน้ำขึ้นมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์รดพืชผัก เพราะมีธาตุอาหารมาก
วันนี้ (19 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวจังหวัดอุบลราชธานี รายงานว่า เกิดปรากฏการณ์สาหร่ายบูมในลำน้ำโดมใหญ่ ตั้งแต่เขตอำเภอนาเยียถึงอำเภอพิบูลมังสาหาร เป็นระยะทางยาวประมาณ 20 กิโลเมตร โดยสาหร่ายบูมเกิดเป็นช่วงๆ ของลำน้ำจนถึงหน้าเขื่อนบ้านสร้างแก้ว ต.โพธิ์ไทร อ.พิบูลมังสาหาร โดยระดับน้ำของลำน้ำโดมขณะนี้มีระดับน้ำความสูงเฉลี่ยประมาณ 1.50 เมตร จากความสูงประมาณ 7 เมตร และปัจจุบันเขื่อนบ้านสร้างแก้วยกประตูระบายน้ำ 1 บาน สูง 20 เซนติเมตร จากจำนวน 4 บาน เพื่อเลี้ยงระบบนิเวศวิทยาของลุ่มน้ำเท่านั้น
จากการสอบถามชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามลำน้ำทราบว่า การเกิดสาหร่ายบูมในลำน้ำจะเกิดเป็นปกติช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ฤดูแล้งของทุกปี แต่ปีนี้เกิดขึ้นเร็วเพราะระดับน้ำในลำน้ำโดมใหญ่มีน้อยกว่าปกติ และได้รับผลกระทบจากตะกอนดินบ่อน้ำเสียโรงงานผลิตแป้งมันแห่งหนึ่ง ซึ่งแตกไหลลงมาสู่ลำน้ำเมื่อต้นปีที่ผ่านมาทำให้เกิดการสะสมอาหารของสาหร่ายจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ยังไม่พบมีสัตว์น้ำตายเพราะขาดออกซิเจน
จากการสอบถาม ดร.ปริญญา มูลสิน อาจารย์สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องสาหร่ายในลำน้ำต่างๆ กล่าวว่า ตามลำน้ำมีสาหร่ายอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดสาหร่ายบูมขึ้นเต็มลำน้ำ คือ สาหร่ายได้ธาตุอาหารสมบูรณ์กว่าปกติทำให้เจริญเติบโตได้รวดเร็ว กรณีของลำน้ำโดมใหญ่ที่เกิดขึ้นเพราะลำน้ำมีน้ำน้อย ประกอบกับน้ำมีอุณหภูมิเหมาะสมและได้รับธาตุอาหารจากตะกอนดินที่มีอยู่เดิม บวกกับตะกอนดินจากน้ำเสียที่แตกไหลลงไปสะสมเมื่อต้นปีทำให้ในน้ำมีธาตุอาหารมากกว่าปกติจึงทำให้สาหร่ายได้อาหารเต็มที่และขยายพันธุ์ได้เร็ว
การเกิดสาเหร่ายบูม ทำให้ลำน้ำมีออกซิเจนสูงในช่วงกลางวัน แต่มีผลเสียในช่วงกลางคืน เพราะสาหร่ายแย่งออกซิเจนกับสัตว์น้ำ วิธีแก้ปัญหาต้องขุดลอกลำน้ำนำเอาตะกอนดินที่เกิดการทับถมจากซากพืชซากสัตว์เป็นเวลานานหลายสิบปีออก แล้วนำตะกอนดินไปทำเป็นปุ๋ยชีวภาพ เพราะมีทั้งแร่ธาตุและสารอาหารมาก หรือจะใช้วิธีกำจัดด้วยวิธีธรรมชาติ คือ ปล่อยให้สาหร่ายตายไปเองตามวัฏจักรที่เป็นห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำ แต่วิธีนี้ต้องใช้เวลานานในการแก้ปัญหา
สำหรับการขุดลอกลำน้ำโดมใหญ่สำนักงานเทศบาลตำบลโพธิ์ไทร และ อบต.ไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้น้ำอุปโภคบริโภคจากลำน้ำโดมใหญ่ ได้ส่งเรื่องขออนุญาตขุดลอกลำน้ำไปยังสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาอุบลราชธานี และทางจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว แต่อยู่ระหว่างการพิจารณา กระทั่งมาเกิดสาหร่ายบูมเพราะระดับน้ำน้อยเกิดขึ้นอีกครั้งในปีนี้