ตามที่มีการแชร์ภาพสาหร่ายบูมในลำน้ำโดม ตั้งอยู่ระหว่าง ต.นาดี อ.นาเยีย และ ต.ไร่ใต้ ต.โพธิ์ไทร อ.พิบูลมังสาหาร รวมทั้ง ต.แก่งโดม อ.สว่างวีระวงศ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งอยู่ตามลำน้ำโดม โดยบอกเกิดจากโรงงานปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำน้ำนั้น และจากการเข้าสำรวจข้อเท็จจริงพบเกิดสาหร่ายบูมจริง
แต่ไม่มีสัตว์น้ำตาย เพราะสัตว์น้ำได้ตายตั้งแต่เกิดเหตุบ่อเก็บน้ำเสียของโรงงานแป้งมันสำปะหลังอุบลเกษตรพลังงาน กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอลแตก ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาแล้ว
ความคืบหน้าวันที่ 26 พ.ค.ที่องค์การบริหารส่วนตำบลไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี นายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เรียกประชุมคณะบริหารจัดการลุ่มน้ำลำโดมใหญ่ ประกอบด้วยหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนภาคประชาชน เพื่อหาทางแก้ปัญหาการเกิดสาหร่ายบูมที่เกิดขึ้นตลอดสองฝั่งแม่น้ำยาวประมาณ 30 กิโลเมตร
นายวิรุฬ ฤกษ์ธนะขจรชัย ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 12 จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงปัญหาการเกิดสาหร่ายบูม เพราะสาหร่ายได้รับอาหารจากการทิ้งน้ำซักล้างจากชุมชน น้ำจากสารเคมีใช้ทำเกษตรกรรม และน้ำจากโรงงานแป้งมันที่แตกไหลลงสู่ลำน้ำเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพราะน้ำเหล่านี้มีธาตุอาหารสูง ประกอบกับน้ำมีน้อยและนิ่งไม่ไหล มีแสงแดดเพียงพอ จึงทำให้เกิดสาหร่ายบูมขึ้นมา
ทั้งนี้ จากการตรวจวิเคราะห์น้ำไม่พบมีสารโลหะหนัก จึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้ที่สัมผัส แต่จะรู้สึกคันเพราะน้ำมีความเป็นกรดเป็นด่างสูงจากการสังเคราะห์แสงของสาหร่าย การแก้ปัญหาต้องมีการปล่อยน้ำมาชะล้างถ่ายเทน้ำเพื่อใช้ปรับสภาพน้ำในลำน้ำให้ดีขึ้น
หลังการประชุมนานกว่า 3 ชั่วโมง ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์จะให้มีการยกบานประตูระบายน้ำฝายกั้นน้ำบ้านสร้างแก้ว ต.โพธิ์ไทร อ.พิบูลมังสาหาร จำนวน 2 บาน สูงบานละ 10 เซนติเมตร ในช่วงกลางวัน เพื่อระบายสาหร่ายออกให้ไปเป็นอาหารของสัตว์น้ำที่ท้ายน้ำ และทำการปิดประตูระบายน้ำในตอนกลางคืน เพื่อไม่ให้สาหร่ายแย่งออกซิเจนจากสัตว์น้ำที่อยู่ท้ายน้ำเป็นเวลานาน 1 สัปดาห์
นอกจากนี้ ระหว่างการเปิดประตูระบายน้ำ หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านจะร่วมกับโรงงานแป้งมันสำปะหลังอุบลเกษตรพลังงาน ในเครือกลุ่มบริษัทโรงงานอุบลไบโอเอทานอล ซึ่งบ่อเก็บน้ำเสียแตกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งเรือออกตักเก็บสาหร่ายขึ้นจากน้ำเพื่อช่วยลดปริมาณของสาหร่ายอีกทางหนึ่ง
เมื่อทำการทดลองเปิดประตูระบายน้ำฝายกน้ำแล้วไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อพื้นที่ท้ายน้ำ จะเริ่มยกบานระบายน้ำอีก 2 สองบานในระดับความสูงเดียวกัน โดยระหว่างนี้จะให้ฝายกั้นน้ำลำโดมใหญ่ อ.เดชอุดม ซึ่งตั้งอยู่เหนือน้ำปล่อยน้ำลงมาชะล้างจำนวน 1 ล้านลูกบาศก์เมตร
หากระหว่างมีการเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 4 บานไม่มีผลกระทบ และมีฝนตกลงมา สำนักงานชลประทานจังหวัดจะทยอยยกบานประตูน้ำขึ้นสูงสุดเพื่อเตรียมรับหน้าฝนที่กำลังมาถึง
ด้านนายประทีป กีรติเรขา ผวจ. กล่าวว่า ได้สั่งให้หน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนำเรือท้องแบนร่วมกับหน่วยงานสิ่งแวดล้อมเข้ามาดำเนินการตักสาหร่าย และให้เปิดประตูระบายน้ำตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป เมื่อน้ำมีการถ่ายเทเชื่อว่าจะแก้ปัญหาการเกิดสาหร่ายบูมได้
ขณะที่ นายสนิท ทองพิมพ์ ผู้ใหญ่บ้านไร่กลาง ต.ไร่ใต้ ที่เป็นตัวแทนชาวบ้านกล่าวว่า รู้สึกดีใจที่มีมติดังกล่าวออกมา เพราะจะช่วยแก้ปัญหาให้แก่ชาวบ้านที่ทนทุกข์มาเกือบ 2 เดือน และต้องการให้ทางโรงงานแก้ปัญหาระยะยาว โดยทำคันดินให้แข็งแรง เพื่อไม่ให้เหตุการณ์บ่อน้ำเสียของโรงงานแตกซ้ำซากด้วย