อุบลราชธานี - กรรมการบริหารจัดการลุ่มน้ำลำโดมใหญ่สั่งปิดประตูระบายน้ำปรับระดับให้สูงขึ้น เพื่อดันน้ำเสียจากลำน้ำสาขาไม่ให้ไหลลงมาสมทบ หลังระดับน้ำฝายลำน้ำโดมใหญ่ลดลงจนทำให้ปลาและสัตว์น้ำตาย
จากกรณีเมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารจัดการลุ่มน้ำลำโดมใหญ่มีมติให้เปิดประตูระบายน้ำฝายกั้นน้ำลำโดมใหญ่ บ้านสร้างแก้ว ต.โพธิ์ไทร อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี สูง 10 เซนติเมตร 2 บาน โดยให้เปิดช่วงกลางวันและปิดในเวลากลางคืน และระหว่างมีการเปิดประตูระบายน้ำให้ฝายยางลำน้ำโดมใหญ่ที่ อ.เดชอุดมปล่อยน้ำลงมาเติมให้ลำน้ำด้านล่าง เพื่อถ่ายเทระบายน้ำเสียและสาหร่ายบูมออกจากลำน้ำ ให้น้ำมีการปรับสภาพ
และให้ฝายกั้นน้ำลำโดมใหญ่เริ่มยกบานประตูน้ำขึ้นทั้ง 4 บาน ตลอด 24 ชั่วโมง หลังการทดลองเปิดประตูน้ำผ่านไปแล้ว 7 วัน เพื่อใช้บริหารจัดการน้ำ ทำให้น้ำในลำโดมใหญ่ลดลงอีก และเมื่อมีฝนตกลงมาในกลางดึกคืนวันที่ 6 มิ.ย. ปรากฏน้ำเสียจากลำน้ำสาขาที่อยู่ด้านบนได้ไหลลงมาสมทบ ทำให้มีปลาและสัตว์น้ำในลำโดมเกิดการน็อกน้ำขาดออกซิเจนตายจำนวนหนึ่ง
ต่อมาวันที่ 8 มิ.ย. คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำลำโดมใหญ่จึงเรียกประชุมเพื่อแก้ปัญหา โดยมีคณะกรรมการประกอบด้วยตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และโรงงานแป้งมันสำปะหลังอุบลเกษตรพลังงาน กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล 50 คน
โดยมีนายเธียรชัย พุทธรังษี นายอำเภอพิบูลมังสาหาร และนายอดิศักดิ์ สังข์สกุล หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 โครงการชลประทานอุบลราชธานี เป็นประธานการประชุม
ผลการประชุมสรุปว่า ปัญหาน้ำเสียที่ทำให้ปลาตายครั้งนี้มีปัจจัยมาจากตะกอนน้ำเสียที่ถูกทิ้งจากชุมชน จากการใช้สารเคมีทำเกษตรกรรมที่ทับถมอยู่ใต้ดินเป็นเวลานาน รวมทั้งมีตะกอนน้ำเสียที่แตกออกมาจากโรงงานแป้งมัน เมื่อมีการเปิดประตูระบายน้ำฝายบ้านสร้างแก้วทำให้ระดับน้ำในลำโดมใหญ่ลดลงอย่างมาก เมื่อมีฝนตกลงมาทำให้ตะกอนดินของเสียลอยขึ้นมาแย่งออกซิเจนของสัตว์น้ำ
คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำลำโดมใหญ่จึงมีมติแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ปิดประตูระบายน้ำฝายกั้นน้ำบ้านสร้างแก้วเพื่อปรับระดับน้ำให้สูงขึ้นเพื่อลดผลกระทบและใช้เป็นตัวดันไม่ให้น้ำเสียจากลำน้ำสาขาไหลลงสู่ลำน้ำโดมใหญ่ในช่วงที่ลำน้ำยังมีน้ำน้อย และจะเริ่มเปิดบานประตูระบายน้ำอีกครั้งเมื่อมีฝนตกลงอย่างหนาแน่นเพื่อระบายน้ำเสียที่ยังตกค้างออกไป และใช้ควบคุมระดับน้ำไม่ให้เกิดน้ำท่วมในช่วงหน้าฝน
สำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาว หลังฤดูน้ำหลากปีนี้ผ่านไป คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำลำโดมใหญ่จะหารือร่วมกับสำนักงานเจ้าท่าจังหวัดอุบลราชธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันขุดลอกลำน้ำและตักตะกอนดินของเสียที่ทับถมกันมาเป็นเวลานาน เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้เกิดน้ำเสียจนส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำในลำน้ำโดมใหญ่ต้องตายอีกต่อไป
ด้านนายแหลมทอง เอมโอษฐ์ ประมงอำเภอพิบูลมังสาหาร กล่าวว่า รัศมีที่พบปลาตายยาวตามลำน้ำโดมใหญ่ประมาณ 26 กิโลเมตร ส่วนสาเหตุเพราะลำน้ำมีน้ำน้อย เมื่อมีน้ำเสียจากชุมชนด้านบนไหลลงมาผสมกับตะกอนน้ำเสียที่มีอยู่เดิม และพืชน้ำสามารถสังเคราะห์แสงได้ดี ทำให้มีการแย่งออกชิเจน ทำให้มีปลาตาย แต่ยังไม่กระทบต่อผู้เลี้ยงปลาในกระชังตามลำน้ำมูลที่อยู่ใกล้กัน