xs
xsm
sm
md
lg

ย้ำ รง.แป้งมันฯ อุบลเกษตรพลังงานเร่งเก็บตะกอนขึ้นจากลำน้ำโดมใน 1 สัปดาห์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - สถานการณ์น้ำเสียจากโรงงานแป้งมันอุบลเกษตรพลังงาน ซึ่งบ่อแตกไหลลงลำน้ำสาธารณะเมื่อปลายเดือน มี.ค.เริ่มดีขึ้น แต่จังหวัดยังจี้ให้สูบตะกอนขึ้นจากน้ำภายใน 1 สัปดาห์ ขณะที่บริษัทยอมควักซื้อเครื่องปั๊มเติมอากาศ ระบุยินดีรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด

จากกรณีบ่อดินผึ่งแดดน้ำเสียบ่อที่ 5 ของโรงงานแป้งมันสำปะหลังอุบลเกษตรพลังงานทรุดพังทลาย หลังมีฝนตกหนักเมื่อช่วงค่ำวันที่ 22 มี.ค. ทำให้น้ำเสียประมาณ 5 แสนลูกบาศก์เมตรไหลลงสู่ลำน้ำโดม และทำให้สัตว์น้ำในรัศมี 3 กิโลเมตรตาย หลังเกิดเหตุหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับบริษัทเร่งแก้ปัญหาตามที่เสนอข่าวมาเป็นลำดับนั้น

วันนี้ (3 เม.ย.) ที่ห้องประชุมปทุมวรราช อาคารศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี นายคันฉัตร ตันเสถียร รองผู้ว่าราชการจังหวัด ประชุมหัวหน้าส่วนราชการด้านสิ่งแวดล้อม ประมง สาธารณสุข ตัวแทนภาคประชาชน และโรงงานแป้งมันสำปะหลังอุบลเกษตรพลังงาน เพื่อรายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาของน้ำเสียที่ไหลลงสู่ลำน้ำโดม

โดยได้ข้อสรุปค่าออกซิเจนหลายจุดของลำน้ำมีระดับดีขึ้นและเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานที่สัตว์น้ำอาศัยอยู่ได้ โดยเฉพาะบริเวณจุดคันดินที่แตกค่าออกซิเจนวัดเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผิวน้ำมีค่าออกซิเจน 4.42 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนใต้น้ำความลึก 2 เมตรมีค่าออกซิเจน 0.37 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

แต่นายคันฉัตรยังคงกำชับให้หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมทำการตรวจวัดค่าออกซิเจนในน้ำต่อไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ชุมชน และได้กำชับให้โรงงานเร่งเก็บกากตะกอนของเสียกว่า 6,000 ลูกบาศก์เมตรขึ้นจากน้ำทั้งหมดภายใน 1 สัปดาห์

ขณะเดียวกัน ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาร่วมกับตัวแทนภาคประชาชน เพื่อหารือเปิดประตูระบายน้ำฝายสร้างแก้ว เพื่อทยอยระบายน้ำเสียที่ถูกกักไว้ตั้งแต่วันเกิดเหตุให้ไหลลงสู่แม่น้ำมูลตามธรรมชาติ ตามที่นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีได้เสนอไว้ในที่ประชุม เพื่อลดปริมาณน้ำเสียที่ไหลจากชุมชนด้านเหนือลงมาสมทบกับน้ำเสียที่แตกไหลออกจากโรงงาน

แต่การจะเปิดบานประตูระบายน้ำต้องมีการประชุมหารือทุกฝ่าย โดยใช้หลักฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เข้าพิจารณาตัดสินใจ และจะต้องไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำที่มวลน้ำเสียจะไหลผ่าน หากข้อมูลด้านคุณภาพน้ำไม่ชัดเจนก็ไม่อนุญาตให้มีการปล่อยน้ำออกจากจุดที่เก็บกักไว้เด็ดขาด

รวมทั้งก่อนเปิดประตูทยอยระบายน้ำออก หน่วยงานท้องถิ่นต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังตามลำน้ำ รวมถึงประชาชนที่ใช้น้ำในด้านอื่นให้รับทราบเรื่องก่อนด้วย

ด้านนายพันศักดิ์ กาจหาญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานปฏิบัติการและเป็นวิศวกรโครงการระบุว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริษัทยอมรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยมีการกำหนดแก้ไขปัญหาและเยียวยาเหตุการณ์เฉพาะหน้าและระยะยาว โดยขณะนี้ได้ดำเนินการใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่สูบเอาตะกอนของเสียที่จมอยู่ใต้น้ำในรัศมี 300 เมตรรอบจุดคันดินแตก

โดยจะทำการสูบตะกอนกว่า 6,000 ลูกบาศก์เมตร เข้าไปเก็บไว้ในบ่อเก็บที่ทำขึ้นใหม่ให้เสร็จภายใน 1 สัปดาห์ตามคำสั่งของจังหวัด ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการมาแล้ว 2 วัน นอกจากนี้ยังมีการนำเรือ 2 ลำติดตั้งเครื่องปั๊มอากาศลงไปเติมออกซิเจนให้กับน้ำ ตามจุดที่มีค่าออกซิเจนน้อยไปจนกว่าน้ำเสียจะหมดไปจากลำน้ำ

สำหรับแผนแก้ปัญหาระยะยาว เมื่อได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า จะเริ่มสร้างเขื่อนกันตลิ่งพังรอบบริเวณโรงงานทันทีเพื่อใช้แก้ปัญหาน้ำเสียไหลลงสู่ลำน้ำให้ถาวรไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นมาอีก ส่วนการเยียวยาและฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมของลำน้ำ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายบริษัทจะดำเนินการหารือกับประชาคมหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ตามลำน้ำทันที เพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นครั้งนี้ทันทีด้วย

หลังการประชุม นายคันฉัตรได้สั่งให้คณะกรรมการมีการประชุมหารือสรุปการแก้ปัญหากันทุกสัปดาห์ แม้จะเป็นช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาให้เร็วที่สุดด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น