xs
xsm
sm
md
lg

ฝนตกหนักเซาะบ่อน้ำเสียโรงงานแป้งมันพัง ผู้ประกอบการผนึกชาวบ้านเร่งสกัดน้ำเสียได้แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สภาพความเสียหายของบ่อบำบัดน้ำเสีย โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง กลุ่มบริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด
อุบลราชธานี - เกิดเหตุขอบบ่อบำบัดน้ำเสียโรงงานแป้งมันสำปะหลังพัง น้ำเสียไหลทะลักสู่ลำน้ำโดม เบื้องต้นยังไม่มีสัตว์น้ำในรัศมี 5 กิโลเมตรลอยตาย เผยสามารถควบคุมพื้นที่น้ำเสียได้แล้ว ด้านโรงงานแจงร่วมกับชาวบ้านสกัดน้ำเสียพร้อมทำเขื่อนปูนกันตลิ่งพังแก้ปัญหาระยะยาว

วันนี้ (23 มี.ค.) มีรายงานข่าวแจ้งว่า ได้เกิดเหตุบ่อเก็บน้ำเสียบ่อที่ 5 จากจำนวน 7 บ่อ ขนาดความจุ 600,000 ลูกบาศก์เมตร ของโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง กลุ่มบริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 333 บ้านหนองแปน หมู่ที่ 9 ต.นาดี อ.นาเยีย จ.อุบลราชธานี เกิดพังทลายและน้ำเสียไหลกัดเซาะขอบบ่อแตกกว้างประมาณ 15 เมตร ยาว 30 เมตร ทำให้น้ำเสียไหลทะลักลงไปสู่ลำน้ำลำโดมที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียง หลังเกิดเหตุบริษัทได้นำเครื่องจักรกลหนักและรถบรรทุกดินขนดินมาถมปิดบริเวณขอบบ่อที่พังเสียหาย หยุดน้ำเสียไม่ให้ไหลลงสู่ลำน้ำ ขณะนี้สามารถควบคุมการไหลของน้ำเสียไว้ได้แล้ว

หลังเกิดเหตุนายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้นำเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม กรมเจ้าท่า และสำนักงานประมงจังหวัดเข้าตรวจดูผลกระทบจากน้ำเสีย ซึ่งทางโรงงานระบุว่าค่าความเข้มข้นของน้ำในบ่อที่แตกมีค่าซีโอดีเกินมาตรฐานประมาณ 200 มิลลิกรัมต่อลิตร จึงให้เจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 12 จังหวัดอุบลราชธานี เข้าเก็บตัวอย่างน้ำส่งตรวจที่ห้องแล็บของกรมที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อทราบผลกระทบที่เกิดขึ้น

เบื้องต้นจากการตรวจสอบยังไม่พบมีสัตว์น้ำตายในรัศมี 4-5 กิโลเมตรของต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำจากจุดที่บ่อน้ำเสียแตก แต่เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 12 จ.อุบลราชธานี ยังคงเฝ้าระวังร่วมกับประชาชนที่อาศัยอยู่ตามลำน้ำทั้งสองฝั่ง

น.ส.กัณฑ์พร กรรณสูต ผู้อำนวยการสายงานสนับสนุน กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล จำกัด กล่าวว่า หลังเกิดเหตุได้ร่วมกับตัวแทนชาวบ้านในเครือข่ายอนุรักษ์ลำโดมเข้าตรวจสอบด้านผลกระทบต่อสัตว์น้ำ แต่ยังไม่พบมีสัตว์น้ำตายจากการปนเปื้อนของน้ำเสีย และไม่มีสารโลหะหนักปนเปื้อน

ขณะเดียวกัน สำนักชลประทานที่ 7 ได้กักเก็บน้ำเสียทั้งหมดไว้ที่ฝายกั้นน้ำบ้านสร้างแก้ว ต.ไร่ใต้ ที่อยู่ห่างไปประมาณ 20 กิโลเมตร น้ำเสียจึงไม่กระจายไปไกล และทางโรงงานได้ร่วมกับชาวบ้าน หลังซ่อมผนังฝายที่แตกเสร็จก็พร้อมสูบน้ำกลับเข้าบ่อเพื่อนำน้ำกลับมาใช้หมุนเวียนผลิตเอทานอลของโรงงานต่อไป

สำหรับสาเหตุการพังทลายของขอบบ่อดินยังไม่แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะเกิดจากเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมามีฝนตกลงมาอย่างหนักตลอดทั้งคืน น้ำฝนอาจกัดเซาะใต้ดินที่เป็นขอบบ่อจนหน้าดินพังทลาย ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวโรงงานได้ขออนุญาตทำเขื่อนปูนกั้นกันตลิ่งพังกับสำนักงานเจ้าท่าจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2557 แต่ยังไม่ได้รับอนุญาต


กำลังโหลดความคิดเห็น