xs
xsm
sm
md
lg

กก.สิทธิลงสำรวจลำโดมใหญ่ มุ่งแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่สำรวจลำโดมใหญ่ อ.นาเยีย จ.อุบลราชธานี
อุบลราชธานี - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนล่องเรือสำรวจน้ำเสียในลำน้ำโดมใหญ่ หลังน้ำเสียจากโรงงานไหลลงลำน้ำสาธารณะ มุ่งแก้ปัญหาให้ชุมชนอยู่ร่วมกับโรงงานได้ยั่งยืน ขณะที่โรงงานทุ่มงบกว่า 180 ล้านบาทสร้างผนังคอนกรีตป้องกันไม่ให้น้ำเสียไหลลงลำน้ำอย่างถาวร

วันนี้ (30 มิ.ย.) นายแพทย์ นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน 10 คน และหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม ลงเรือล่องไปตามลำน้ำโดมใหญ่ จากบ้านแก่งกอก ต.นาดี อ.นาเยีย จ.อุบลราชธานี เพื่อดูสภาพลำน้ำความยาวกว่า 28 กิโลเมตรที่เสียหายจากบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานแป้งมันสำปะหลังอุบลเกษตรพลังงาน กลุ่มบริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด พังทลาย และมีน้ำผ่านการบำบัดจำนวนกว่า 5 แสนลูกบาศก์เมตรไหลลงสู่ลำน้ำเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

โดยหลังเกิดเหตุบ่อบำบัดน้ำเสียแตก นายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี สั่งให้หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับโรงงานเข้าบำบัดน้ำเสียให้เจือจาง โดยการนำเครื่องมือสร้างออกซิเจนให้ ตักกากตะกอนที่ตกค้างขึ้นมาฝังกลบ และเปิดปิดประตูระบายน้ำเขื่อนกั้นลำน้ำโดมใหญ่เพื่อให้น้ำเสียไหลออกจากลำน้ำลงสู่แม่น้ำมูล แต่จากการล่องเรือสำรวจลำน้ำพบว่าปัจจุบันในพื้นที่น้ำยังคงมีสีเขียวขุ่นจากการเกิดสาหร่ายบูม เพราะน้ำในลำน้ำโดมใหญ่มีน้อยเนื่องจากประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงมาเป็นเวลานาน

หลังล่องเรือดูสภาพข้อเท็จจริงกว่าหนึ่งชั่วโมง นายแพทย์ นิรันดร์ พร้อมคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมได้ประชุมรับฟังความเห็นจากชาวบ้านตำบลไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร ที่ได้รับผลกระทบ โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ระบุว่าต้องการให้หน่วยงานราชการเร่งฟื้นฟูสภาพลำน้ำให้กลับมามีสภาพดีเหมือนในอดีต เพื่อจะได้ใช้บริโภค อุปโภค และทำเกษตรกรรม รวมทั้งต้องการให้ทางโรงงานแก้ไขไม่ให้บ่อบำบัดน้ำเสียแตก สร้างความเสียหายให้แก่ลำน้ำอีก

นายแพทย์ นิรันดร์กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะเข้ามาช่วยกำหนดกระบวนการทำงานร่วมกัน ทั้งชุมชน โรงงาน โดยให้หน่วยราชการเป็นผู้กำกับดูแลเพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยไม่ต้องคิดว่าใครทำผิดหรือใครทำถูก เพราะถ้ามองอย่างนั้นจะไม่เกิดกระบวนการแก้ปัญหา จึงต้องเอาแนวทางความขัดแย้งมาใช้แก้ปัญหา โดยไม่นำความขัดแย้งไปสู่ความแตกแยก แต่หาทางออกว่าปัญหามีอะไรบ้าง และใครควรต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง โดยให้ราชการเป็นผู้บังคับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน จะเป็นกระบวนการแก้ปัญหาให้อยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนกับโรงงานได้อย่างยั่งยืน

ขณะที่ น.ส.กัณฑ์พร กรรณสูต ผู้อำนวยการ สายงานสนับสนุนโรงงานแป้งมันสำปะหลังอุบลเกษตรพลังงาน กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาระยะยาวว่า หลังเกิดเหตุบริษัทได้ใช้งบประมาณกว่า 180 ล้านบาทสร้างผนังคอนกรีตเสริมเหล็ก ความกว้าง 16 เมตร ยาวกว่า 2 กิโลเมตร พร้อมตอกเสาเข็มลงไปถึงชั้นดินดานเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเสียมีโอกาสไหลออกจากบ่อกักเก็บได้อีก โดยใช้เวลาก่อสร้างนานประมาณ 2 เดือนเพื่อแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาด จากนั้นบริษัทจะร่วมกับหน่วยงานภาครัฐฟื้นฟูสภาพลำน้ำโดมใหญ่ โดยปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในเบื้องต้น พร้อมจะหารือร่วมกับชุมชนว่าต้องการให้บริษัทช่วยเหลืออะไรเพิ่มเติมเพื่อให้ลำน้ำแห่งนี้กลับมามีสภาพที่สมบูรณ์เหมือนเดิมด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น