xs
xsm
sm
md
lg

เมืองพัทยา-ม.พระจอมเกล้าฯ ร่วมพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียต้นทุนต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา- เมืองพัทยา จับมือร่วมกับ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย ตั้งเป้าเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดสูงสุด 1.5 แสน ลบ.ม.ต่อวัน ด้วยระบบเทคโนโลยีอัดอากาศรูปแบบใหม่ Micro Nano Bubble

วันนี้ (19 มิ.ย.) ดร.วีรวัฒน์ ค้าขาย รองนายกเมืองพัทยา พร้อมด้วยสมาชิกสภาเมืองพัทยา ที่ปรึกษานายกเมืองพัทยา และเจ้าหน้าที่สำนักช่างสุขาภิบาล ได้ร่วมกันลงพื้นที่รับฟังบรรยายสรุปและผลการเดินระบบบำบัดน้ำเสียด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบ Micro Nano Bubble

ทั้งนี้ เมืองพัทยา ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พัฒนาขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศ ด้วยหวังเสริมประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสีย และลดต้นทุนการพัฒนาระบบและอัตราการสิ้นเปลืองกระแสไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.วีรวัฒน์ กล่าวว่า โครงการบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยาได้เริ่มดำเนินการมาเป็นเวลานานกว่า 15 ปีแล้ว ภายใต้ระบบเติมอากาศที่สามารถรองรับปริมาณน้ำเสียต่อวันได้เฉลี่ย 65,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่ทั้งนี้พบว่า ระบบที่ดำเนินการมานั้นทำให้เมืองพัทยาต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และยังมีปัญหาในเรื่องการบำรุงรักษา เพราะกระแสไฟฟ้าในระบบเติมอากาศมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยปีละประมาณ 63 ล้านบาท จากการดำเนินงานในบ่อบำบัด 3 แห่ง

จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุง และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หลังปริมาณน้ำเสียในแต่ละวันมีสัดส่วนเพิ่มสูงถึง 8.7 หมื่น ลบ.ม.ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มขยายเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.4 แสน ลบ.ม.ภายในระยะเวลา 10 ปี

เมืองพัทยา จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ หาแนวทางการพัฒนาศักยภาพของการบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้ต้นทุนการบำบัดที่ต่ำลง กระทั่งมีการระบบเติมอากาศแบบใหม่ที่เรียกว่า Micro Nano Bubble ซึ่งเป็นระบบเติมอากาศแบบหัวฉีดพลังเจ็ต ที่ให้ฟองอากาศในการบำบัดที่ละเอียดกว่าระบบเดิมหลายเท่า และยังลดปัญหาท่ออุดตันในระยะยาว

ขณะที่การใช้พลังงานไฟฟ้าในการเดินระบบแบบใหม่นั้นก็ใช้เพียง 140 Kw หรือ 3,360 หน่วยต่อวัน และมีค่าใช้จ่ายกระแสไฟอยู่ที่ 4.2 ล้านบาทต่อปี ต่อ 1 บ่อบำบัด ต่างจากระบบเดิมที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ามาก

ขณะที่คุณภาพน้ำที่ผ่านการบำบัดดยังมีคุณภาพที่สูงกว่าระบบเดิม และยังเสริมศักยภาพระบบบำบัดให้สามารถรองรับน้ำเสียในปริมาณ 1.5 แสน ลบ.ม.ต่อวันในอนาคตอีกด้วย

ที่สำคัญหากจะทำการขยายระบบเดิมอาจต้องใช้งบประมาณลงทุนหลายร้อยล้านบาท แต่ระบบใหม่จะใช้งบประมาณเพียง 70 ล้านบาทต่อการบำบัดในปริมาณน้ำเฉลี่ย 30,000 ลบ.ม.ต่อวันเท่านั้น

เมืองพัทยา จึงเสนอโครงการดังกล่าวต่อสภาเมืองพัทยาเพื่อขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 50 ล้านบาท ในการพัฒนาระบบ และขยายแผนเพื่อพัฒนาปรับเปลี่ยนการบำบัดน้ำเสียของเมืองพัทยาให้ดียิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น