xs
xsm
sm
md
lg

รง.แป้งมันทุ่มเกือบ 300 ล้าน แก้ปัญหาบ่อน้ำเสียแตกถาวร ป้องกันไหลลงลำน้ำสาธารณะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

  นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล
อุบลราชธานี - โรงงานแป้งมันสำปะหลังในเครืออุบลไบโอเอทานอล แจงผู้นำชุมชนใช้งบเกือบ 300 ล้านบาท สร้างกำแพงคอนกรีตใต้ดินกันบ่อบำบัดน้ำเสียแตกแบบถาวร พร้อมร่วมฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมในลำน้ำโดมใหญ่ที่ได้รับผลกระทบระยะยาว

วันนี้ (26 ส.ค.) ที่โรงงานแป้งมันอุบลเกษตรพลังงานจำกัด บริษัทในเครือกลุ่มบริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด ต.นาดี อ.นาเยีย จ.อุบลราชธานี นายคันฉัตร ตันเสถียร รองผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้นำชุมชนในพื้นที่ 3 อำเภอรอบโรงงานกว่า 200 คน ร่วมรับฟังคำชี้แจงมาตรการแก้ปัญหาน้ำเสียของโรงงานกว่า 5 แสนลูกบาศก์เมตร ไหลลงสู่แม่น้ำลำโดมใหญ่ เมื่อวันที่ 22 มี.ค. และน้ำเสีทำให้สัตว์น้ำในลำน้ำตายจำนวนมาก

นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด กล่าวว่า กลุ่มบริษัทได้ทุ่มงบประมาณ 286 ล้านบาทเศษ แก้ปัญหาเร่งด่วนและระยะยาว โดยว่าจ้างบริษัทสร้างกำแพงคอนกรีตลงไปใต้ผิวดินถึงชั้นดินดานลึก 10-12 เมตร ระยะทางยาวเกือบ 2 กิโลเมตร เพื่อกันไม่ให้เกิดเหตุบ่อบำบัดน้ำเสียพังได้อีก รวมทั้งมีการปูก้นบ่อบำบัดน้ำเสียไม่ให้น้ำซึมลงใต้ดิน และมีการขยายคันดินจาก 5 เมตรเป็น 8 เมตร ปลูกต้นไม้ยึดหน้าดินกันการกัดเซาะจากลำน้ำโดมใหญ่ รวมทั้งการบริหารจัดการบ่อเก็บน้ำเสียไม่ให้เสียความสมดุล พร้อมนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัด ใช้หมุนเวียนผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนกากตะกอนชุมชนได้ขอนำไปใช้ทำปุ๋ยชีวภาพทั้งหมด

รวมทั้งจะร่วมกับชุมชนช่วยกันฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม ตามคำแนะนำของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ได้ให้ไว้ เมื่อครั้งเดินทางมาดูข้อเท็จจริงในพื้นที่เมื่อเดือนก่อน เบื้องต้นเมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ร่วมกันปล่อยปลาพันธุ์กินพืช และกุ้งก้ามกราม 1.3 ล้านตัวลงสู่ลำน้ำ โดยเป็นการปล่อยเป็นปีที่ 4 และทางโรงงานจะร่วมกับชุมชนปล่อยสัตว์น้ำเพิ่มเติมต่อไปอย่างไม่มีกำหนด

นอกจากนี้ ชุมชนจะเข้ามาร่วมเฝ้าระวัง โดยร่วมกันจับตาการขึ้นลงของระดับน้ำลำโดมใหญ่ในแต่ฤดู หากพบสิ่งผิดปกติ โรงงานและชุมชนจะมีการแจ้งเตือน เพื่อเข้าช่วยกันแก้ปัญหา ไม่ให้เกิดเหตุบานปลายเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาอีก

ด้านนายสนิท ทองพิมพ์ ผู้ใหญ่บ้านไร่กลาง หมู่ 5 ต.ไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร กล่าวว่า หลังได้รับฟังคำชี้แจงจากทางโรงงาน ก็มีความมั่นใจระบบป้องกันน้ำเสีย ไม่มีโอกาสแตกแล้วไหลลงสู่ลำน้ำอีกประมาณ 70% เพราะการสร้างกำแพงคอนกรีตกันการพังทลายของหน้าดิน เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ชาวบ้านยังไม่รู้จัก ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ส่วนที่เห็นผลแล้ว คือ การร่วมมือกันฟื้นฟูสภาพลำน้ำ แต่ต้องใช้เวลาอีกหลายปี ดีใจที่โรงงานให้ความสำคัญต่อชุมชนตามคำแนะนำของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น