xs
xsm
sm
md
lg

รง.แป้งมันฯ อุบลเกษตรพลังงานทุ่ม 180 ล้านแก้ปัญหาน้ำเสียเด็ดขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี-โรงงานแป้งมันสำปะหลังอุบลเกษตรพลังงาน ในเครือกลุ่มบริษัทโรงงานอุบลไบโอเอทานอล จ.อุบลราชธานี ทุ่ม 180 ล้านบาททำเขื่อนซีเมนต์กั้นรอบบ่อน้ำเสียไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ พร้อมระดมปล่อยสัตว์น้ำและร่วมสถาบันการศึกษาวิจัยการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมลำน้ำ ขณะจังหวัดสั่งเร่งเติมออกซิเจนในน้ำให้กลับเป็นปกติโดยเร็วที่สุด

จากกรณีบ่อดินใช้ผึ่งแดดน้ำเสียบ่อที่ 5 ของโรงงานแป้งมันสำปะหลังอุบลเกษตรพลังงาน ในเครือกลุ่มบริษัทโรงงานอุบลไบโอเอทานอลทรุดพังทลาย หลังมีฝนตกหนักเมื่อช่วงค่ำวันที่ 22 มี.ค. ทำให้น้ำเสียประมาณ 5 แสนลูกบาศก์เมตรไหลลงสู่ลำน้ำโดม และทำให้สัตว์น้ำในรัศมี 3 กิโลเมตรตายไปจำนวนหนึ่ง หลังเกิดเหตุหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของจังหวัดอุบลราชธานีร่วมกับบริษัทเร่งแก้ปัญหาตามที่เสนอข่าวมาเป็นลำดับ

ส่วนความคืบหน้าวันนี้ (26 มี.ค.) นายคันฉัตร ตันเสถียร รองผู้ว่าราชการจังหวัดประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนภาคประชาชน และโรงงานแป้งมันสำปะหลัง เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาน้ำเสียอย่างยั่งยืน และกรอบวิธีการฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยาของลำน้ำโดมให้กลับสู่ภาวะปกติ ที่ห้องประชุมปทุมวรราช อาคารศาลากลางจังหวัด

เบื้องต้นได้รับรายงานน้ำเสียยังคงอยู่ในวงจำกัดรัศมีจากจุดแตกไม่เกิน 3 กิโลเมตร เนื่องจากฝายสร้างแก้ว สำนักชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี ยังปิดประตูระบายน้ำ เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง พร้อมใช้เป็นตัวกักกันไม่ให้น้ำเสียไหลไปทำความเสียหายแก่สัตว์น้ำในจุดท้ายน้ำได้อีก

นายคันฉัตรกำชับให้บริษัทเร่งใช้เรือดูดและเครื่องสูบน้ำปั่นสร้างออกซิเจนในน้ำ เพื่อลดความเข้มข้นของปริมาณน้ำเสียที่ไม่มีสารโลหะหนักให้สลายตัวเร็วขึ้น

ขณะเดียวกันให้บริษัทเตรียมสารอีเอ็มจำนวน 6,000 ลิตรเทลงในน้ำลดกลิ่นเหม็นจากซากตะกอนน้ำเสียและซากสัตว์น้ำที่ตายช่วงวันเกิดเหตุ โดยรายงานล่าสุดของเจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดแจ้งว่า ขณะนี้ไม่พบมีสัตว์น้ำตายเพิ่มจากวันแรก และไม่พบคราบตะกอนแดงลอยให้เห็นตั้งแต่เช้าวันนี้แล้ว

ด้านนายจำเนียร สาธิสุข รองนายก อบต.ไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร และตัวแทนภาคประชาชนที่อาศัยอยู่ฝั่งตรงข้ามลำน้ำเกิดเหตุระบุว่า จากการประชุมประชาคมชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามสองฝั่งลำน้ำโดม ต้องการให้บริษัทย้ายจุดที่ตั้งบ่อบำบัดน้ำเสียให้ลึกเข้าไปเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อีก

ทั้งนี้ เพราะตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบันเกิดเหตุน้ำเสียไหลทะลักออกจากบ่อเมื่อมีฝนตกหนัก 5 ครั้งแล้ว จึงต้องการให้บริษัททำการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร จะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อลำน้ำแห่งนี้อีก

ด้าน น.ส.กัณฑ์พร กรรณสูต ผอ.สายงานสนับสนุนโรงงานแป้งมันสำปะหลังอุบลเกษตรพลังงาน กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล กล่าวถึงแผนเร่งฟื้นฟูหลังวันเกิดเหตุ มีการส่งชุดกอบกู้ลำน้ำโดม นำเรือท้องแบนเก็บกากตะกอนน้ำและวัชพืชนำขึ้นมาฝังกลบในบริษัท และหลังเกิดเหตุวันเดียวบริษัทได้ทำการเสริมคันดินที่พังถล่ม จนไม่มีน้ำเสียไหลจากโรงงานลงสู่ลำน้ำแล้ว

ขณะเดียวกันมีการแจกจ่ายชุดใช้ตรวจวัดค่าออกซิเจนให้ตัวแทนชาวบ้านที่เป็นเครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำโดมใช้ตรวจสอบค่าน้ำตามจุดต่างๆ

หลังน้ำเสียเจือจางหมดแล้วจะเริ่มทำการปล่อยพันธุ์ปลากินพืชลงสู่ลำน้ำโดมในเดือนเมษายน และจะประชุมหาแนวทางการฟื้นฟูร่วมกับคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์ลำน้ำโดม ตามความต้องการของประชาคมหมู่บ้านที่อาศัยอยู่สองฝั่งลำน้ำโดม

นอกจากนี้ บริษัทได้เตรียมงบประมาณจำนวน 180 ล้านบาททำเขื่อนซีเมนต์กั้นตามขอบบ่อน้ำเสียทั้งหมดของโรงงาน พร้อมปูผ้าพลาสติกรองก้นบ่อ ป้องกันไม่ให้มีน้ำเสียซึมลงสู่ใต้ดิน และมีการสร้างบ่อเฝ้าสังเกตการณ์ ใช้ตรวจสอบน้ำเสียอีก 11 บ่อ ปลูกต้นไม้ใช้ยึดหน้าดินตามคันบ่อน้ำเสียทั้งหมด และทำการปล่อยสัตว์น้ำเพิ่มเติมไปถึงปี 2559 หลังจากนั้นจะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทำการวิจัยพัฒนาสิ่งแวดล้อมของลำน้ำอย่างเป็นระบบ

แต่ในช่วงนี้ ซึ่งยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ทำเขื่อนกั้นตลิ่งจากสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาอุบลราชธานี จะมีการจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตรวจดูความมั่นคงตามขอบบ่อน้ำเสียตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก

ขณะที่ ผศ.ดร.อนุชา เพียรชนะ หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และเป็นที่ปรึกษาของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เสนอให้มีการยกบานระบายน้ำของฝายกั้นน้ำสร้างแก้วขึ้นเล็กน้อย เพื่อทยอยปล่อยน้ำที่ได้รับการบำบัดออกไปตามธรรมชาติ

ทั้งนี้เพราะหากปิดกั้นน้ำไว้ทั้งหมดจะมีน้ำเสียจากชุมชนอำเภอต่างๆ ที่อยู่เหนือน้ำขึ้นไปไหลลงมาเติม ทำให้การแก้ปัญหาน้ำเสียในจุดเกิดเหตุยากยิ่งขึ้น เพราะจะมีการสะสมของน้ำเสียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตัวแทนชุมชนที่เข้าร่วมประชุมจะได้นำข้อเสนอไปหารือในคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์ลำน้ำโดม เพื่อแจ้งให้สำนักชลประทานที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ดูแลฝายกั้นน้ำสร้างแก้วทราบต่อไปด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น