xs
xsm
sm
md
lg

รง.อุบลไบโอเอทานอลระดมเครื่องสูบน้ำสร้างออกซิเจนหลังบ่อน้ำเสียแตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - โรงงานอุบลไบโอเอทานอลระดมเครื่องสูบน้ำสร้างออกซิเจนและเก็บกากตะกอนน้ำเสียและซากวัชพืช หลังบ่อเก็บกักแตกขึ้นมาฝังกลบ คาดใช้เวลาอีกราว 3 วันจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะเดียวกันโรงงานยังหยุดเดินเครื่องสายพานการผลิตเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ชุมชน ด้านผู้นำท้องถิ่นวอนโรงงานหาวิธีแก้ปัญหาน้ำเสียอย่างถาวร เพื่อไม่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอีก

จากกรณีมีฝนตกหนักและน้ำกัดเซาะบ่อน้ำเสียโรงงานแป้งมันสำปะหลังกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล จนบ่อแตกไหลลงสู่ลำน้ำโดม ซึ่งเป็นลำน้ำสาธารณะตั้งอยู่ใกล้เคียง หลังเกิดเหตุจังหวัดสั่งระดมเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมเข้าตรวจสอบผลกระทบ ส่วนฝ่ายโรงงานเร่งแก้ไขซ่อมแซมเพื่อลดผลกระทบให้สิ่งแวดล้อมบริเวณที่น้ำเสียไหลลงไปตามที่เสนอข่าวไปนั้น

ความคืบหน้าวันนี้ (24 มี.ค.) เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิศวกรโยธากลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอลนำเสาเข็มจากต้นยูคาลิปตัสและเสาเข็มปูนซีเมนต์ความสูงกว่า 4 เมตร ปักเป็นแนวกันหน้าดินขอบบ่อเสริมความมั่นคง และนำดินเข้ามาถมตามแนวคันดินที่เกิดพังทลายความยาวประมาณ 30 เมตร และได้ขยายความกว้างของแนวคันดินขอบบ่อให้มีความกว้างเพิ่มขึ้น พร้อมนำรถมาบดอัดดินเหนียวให้มีความแข็งแรงด้วย

ขณะเดียวกันได้ส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายดูแลสิ่งแวดล้อมลงเรือท้องแบนตักตะกอนดิน รวมทั้งวัชพืชของน้ำเสียที่ลอยเกาะผิวน้ำ ขึ้นมาทำการฝังกลบบริเวณแปลงที่ 22 ของโรงงาน ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุราว 3 กิโลเมตร เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้ลำน้ำ และยังนำเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว และ 6 นิ้ว จำนวน 10 เครื่อง ติดตั้งตามลำน้ำที่มีค่าออกซิเจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อสูบน้ำให้ไหลเวียนสร้างออกซิเจนให้ลำน้ำเร็วที่สุด

โดยค่าออกซิเจนวัดโดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 12 จ.อุบลราชธานี เมื่อช่วงเย็นวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา บริเวณจุดที่คันดินขาดมีค่าออกซิเจน 0.4 มิลลิกรัมต่อลิตร ห่างจากจุดที่คันดินแตก 200 เมตร 1.1 มิลลิกรัมต่อลิตร

แต่ห่างออกไปที่สะพานโดมและฝายห้วยยางมีค่าออกซิเจน 3.4 และ 4.6 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งค่ามาตรฐานต้องมีออกซิเจนไม่ต่ำกว่า 4 มิลลิกรัมต่อลิตร สัตว์น้ำจึงอาศัยอยู่ได้ และทำให้เห็นการกระจายตัวของมวลน้ำเสีย ปัจจุบันยังอยู่ในวงจำกัดจากจุดแตกประมาณ 3 กิโลเมตร เนื่องจากฝายสร้างแก้วปิดประตูระบายน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ทำให้น้ำเสียที่ไหลลงสู่ลำน้ำโดมนิ่งไม่ไหลไปไกล

น.ส.ทัศนีย์ บุญสืบ หัวหน้าความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล กล่าวว่า วันนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำทุ่นลอยเพื่อดักตะกอนน้ำและวัชพืช ซึ่งจะต้องทำการตักออกจากลำน้ำขึ้นไปฝังกลบทั้งหมด รวมทั้งจะเดินเครื่องสูบน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้น้ำต่อเนื่องจนกว่าค่าออกซิเจนน้ำจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และตั้งแต่วันเกิดเหตุถึงปัจจุบันพบมีสัตว์น้ำตายจำนวนหนึ่ง เฉพาะที่โรงงานสามารถตักเก็บขึ้นจากน้ำได้ประมาณ 100 กิโลกรัม โดยเป็นซากสัตว์น้ำที่ตายแล้วลอยขึ้นมาในช่วงเย็นของวันเกิดเหตุ ส่วนวันที่สองนี้ยังไม่พบมีสัตว์น้ำตายเพิ่มแต่อย่างใด ส่วนการตักเก็บตะกอนและวัชพืชคาดว่าต้องใช้เวลาตักเก็บประมาณ 3 วัน

ขณะที่นายสมบูรณ์ โพธิ์พิมพ์ ผู้ใหญ่บ้านแก่งกอก หมู่ 10 ต.ไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร ซึ่งตั้งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำในจุดที่คันดินแตก กล่าวว่า พบซากสัตว์น้ำลอยตายขึ้นมาในช่วงเย็นหลังคันดินแตกวันแรก โดยเป็นลักษณะน็อกน้ำจากน้ำเสียที่ไหลลงมาจำนวนมหาศาล ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าเก็บสัตว์น้ำที่ลอยตายมาทำอาหาร

อีกทั้งวันนี้ยังพบมีซากสัตว์น้ำที่ตายตั้งแต่วันแรกลอยขึ้นผิวน้ำเป็นระยะ แต่หากเทียบเป็นปริมาณกับเหตุการณ์น้ำเสียล้นบ่อจากน้ำฝนเมื่อปีก่อนมีปริมาณสัตว์น้ำตายน้อยกว่า และการตายของสัตว์น้ำก็อยู่ในวงจำกัด เพราะใต้โรงงานไปกว่า 5 กิโลเมตรยังไม่มีชาวบ้านพบเห็นมีสัตว์น้ำตาย

“สิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือ อยากให้โรงงานแก้ปัญหาเรื่องน้ำเสียที่มักไหลทะลักจากบ่อกักเก็บหลังมีฝนตก เพื่อจะไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของลำน้ำแห่งนี้อีกต่อไป”

น.ส.กัณฑ์พร กรรณสูต ผู้อำนวยการ สายงานสนับสนุนกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล กล่าวว่า โรงงานยังหยุดสายการผลิตแป้งมันและเอทานอล จนกว่าจะสามารถซ่อมแซมคันดินให้เสร็จสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงจะกลับมาเดินสายพานการผลิตใหม่อีกครั้ง

ส่วนแผนการแก้ปัญหาไม่ให้น้ำเสียไหลลงสู่ลำน้ำได้อีกคือ อยู่ระหว่างขออนุญาตสร้างเขื่อนปูนกันตลิ่งพังจากกรมเจ้าท่า ส่วนการฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมของลำน้ำหลังเหตุการณ์ นอกจากจะมีการนำพันธุ์สัตว์น้ำมาปล่อยฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยาแล้ว จะมีการประชุมคณะกรรมการเครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำโดม ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนชาวบ้านจากพื้นที่ 4 ตำบลตามลำน้ำ เพื่อระดมความเห็นและความต้องการของชาวบ้านที่จะให้โรงงานทำเพื่อใช้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น