xs
xsm
sm
md
lg

ศวท.มก.จัดโครงการ “184 ภาคีเครือข่าย จุลินทรีย์ธรรมชาติ เพื่อผลิตก๊าซหุงต้มจากผักตบชวา” เฉลิมพระเกียรติ “ราชินี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นครปฐม - เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษามหาราชินี ในปี 59 กองงาน “หนึ่งใจ...ช่วยเหลือเกษตรกร” มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ ศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ)-ศวท. มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มก.จึงได้ร่วมมือกันจัดโครงการ “184 ภาคีเครือข่าย จุลินทรีย์ธรรมชาติ เพื่อผลิตก๊าซหุงต้มจากผักตบชวา” ขึ้น พร้อมเปิดรับสมัคร 184 ภาคีเครือข่ายตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ดร.อนามัย ดำเนตร คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (ศวท.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)
วันนี้ (15 ก.ย.) ดร.อนามัย ดำเนตร คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (ศวท.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสมิ่งมงคลของประชาชนชาวไทย คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (ศวท.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศาสตร์แห่งแผ่นดิน จะจัดโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วยการผลิตก๊าซหุงต้มจากผักตบชวาขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายการแก้ปัญหาผักตบชวา ด้วยการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผักตบชวา โดยการเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทน ซึ่งนอกจากจะเป็นการกำจัดผักตบชวาแล้ว ยังจะช่วยประหยัดรายจ่ายในครัวเรือนด้านพลังงานทดแทนได้ด้วย

“การจัดโครงการดังกล่าวจะใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยของคณะวิจัย ได้แก่ รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ รศ.จิตราภรณ์ ธวัชพันธุ์ และนายขวัญชัย นิ่มอนันต์ สังกัดคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวนี้ได้ทำการอบรมไปแล้วในปี 2557 ที่มีผลงานเชิงประจักษ์แล้วว่าใช้ได้ผลจริง และเกษตรกรสามารถทำเองได้ง่าย และหลังจากนั้นก็ได้มีหน่วยงาน องค์กร และผู้นำชุมชนต่างๆ แสดงความต้องการเข้ารับการอบรมอย่างต่อเนื่องจำนวนมาก ดังนั้น ทาง ศวท.มก. จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้นอีก และประกาศรับสมัคร 184 ภาคีเครือข่ายตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป” ดร.อนามัย กล่าว
ดร.อนามัย ดำเนตร ใช้ก๊าซผักตบปรุงอาหาร
รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ รองผู้อำนวยการ กองงาน “หนึ่งใจ...ช่วยเหลือเกษตรกร” มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และผู้อำนวยการศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ)-ศวท. เปิดเผยว่า ทีมวิจัยได้ประสบความสำเร็จในการวิจัย โดยได้ค้นพบจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูงที่สามารถย่อยผักตบชวาได้ผลผลิตเป็นก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซชีวภาพ จากนั้นคณะทำงานได้ประยุกต์จากงานวิจัยที่ยุ่งยากซับซ้อนให้มาเป็นวิธีการอย่างง่ายที่เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไปสามารถเรียนรู้ได้ และทำได้เองในชีวิตประจำวัน

“โครงการฯคาดหวังว่าภาคีเครือข่าย จำนวน 184 คนที่จะเกิดขี้นนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยกันเพิ่มมูลค่าผักตบชวา โดยการเปลี่ยนให้เป็นพลังงานทดแทนสำหรับใช้เป็นก๊าซหุงต้มในครัวเรือนขนาดเล็ก หรือในชุมชนของตนได้ เมื่อใดที่ต้องการก๊าซหุงต้ม เมื่อนั้นเกษตรกรสามารถผลิตได้เองจากผักตบชวาที่อยู่ในแหล่งน้ำใกล้บ้าน” รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ กล่าว
ดร.อนามัย ดำเนตร  ใช้ก๊าซผักตบปรุงอาหาร
พร้อมกล่าวต่อว่า สำหรับคุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครเป็น 184 ภาคีเครือข่าย จุลินทรีย์ธรรมชาติ เพื่อผลิตก๊าซหุงต้มจากผักตบชวา ได้แก่ เป็นผู้มีคุณสมบัต อย่างน้อยข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ เจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทหารฯ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องต่อการดูแลประชาชน ตำแหน่งเทียบเท่าได้ไม่ต่ำกว่าข้าราชการระดับ 5 ขึ้นไป

หรือเป็นผู้นำชุมชน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประธานศูนย์ฯ ประธานชุมชนฯ เครือข่ายของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย หรือเป็นผู้นำชุมชน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประธานศูนย์ฯ ประธานชุมชนฯ เครือข่ายของมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ โดยต้องเป็นผู้อยู่ในพื้นที่ประสบปัญหาผักตบชวาทั่วประเทศไทย และมีศักยภาพในการนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ โดยแต่ละหน่วยงาน/องค์กร สามารถเสนอผู้สมัครได้หน่วยงานละ 4 คน
การทดสอบก๊าซหุงต้มจากผักตบด้วยถังน้ำขนาด 10 ลิตร
หลังได้รับการตอบรับจากโครงการฯ ให้เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายแล้ว จะมีการอบรมวิธี “ผลิตก๊าซหุงต้มผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง” เพื่อให้ภาคีเครือข่ายทั้ง 184 คน จาก 46 หน่วยงาน/องค์กรทั่วประเทศ มีความรู้ความเข้าใจที่จะนำไปประยุกต์ใช้จริงให้เกิดประสิทธิภาพในพื้นที่ที่ท่านดูแลได้ และเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน มีการคัดเลือก 5 หน่วยงาน/องค์กรจาก 46 หน่วยงาน/องค์กรที่เข้าร่วม เพื่อพัฒนาให้เกิดองค์ความรู้ที่ยั่งยืนอยู่คู่กับชุมชน พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ และศึกษาดูงานต่อไป

“นอกจากนี้ ในโอกาสต่อไปที่คณะทำงานจะมีองค์ความรู้ใหม่ด้านจุลินทรีย์ หรือด้านการเกษตร จะได้มีการประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้ง 184 คนทั่วประเทศนี้ในการเผยแพร่และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ถึงมือเกษตรกร และชาวบ้าน สมดังปณิธานของกองงาน “หนึ่งใจ...ช่วยเหลือเกษตรกร” มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ)-ศวท. มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย สืบไป”
จุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง
รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ กล่าวต่ออีกว่า กิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อสร้าง 184 ภาคีเครือข่าย “ผลิตก๊าซหุงต้มผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง” จะจัดที่คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ใช้เวลานาน 1 วัน ประกอบด้วย การบรรยาย ปฏิบัติการ และฝึกอบรมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ทฤษฎี และความรู้ที่จำเป็นเกี่ยวกับการผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา โดยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง วิธีการคัดเลือกจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูงด้วยตนเอง การผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวาด้วยจุลินทรีย์ศักยภาพสูงจากธรรมชาติ การผลิตถังย่อยผักตบชวา และถังเก็บก๊าซอย่างปลอดภัย ข้อควรระมัดระวังในการทำงานกับก๊าซไวไฟ การนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม และเทคนิคการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกร และชาวบ้าน

หลังจากได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี โครงการคาดหวังว่า ภาคีเครือข่ายทั้ง 184 คนจะมีความรู้ความสามารถที่จะคัดเลือก และศึกษาคุณสมบัติของจุลินทรีย์สายพันธุ์ศักยภาพสูงจากธรรมชาติ ไว้ใช้หมักผักตบชวาได้เอง และมีความสามารถขยายหัวเชื้อดังกล่าวสำหรับใช้ในชุมชน รวมทั้งมีความสามารถในการปฏิบัติงานต่อก๊าซไวไฟที่ผลิตได้จากผักตบชวาด้วยความระมัดระวังเพื่อให้เกิดความปลอดภัย
ดร.อนามัย ดำเนตร คณบดี ศวท. มก.
อนึ่ง เนื่องจากโครงการฯ มีงบประมาณสนับสนุนให้สำหรับการดำเนินกิจกรรมจำนวนหนึ่ง ดังนั้น ภาคเอกชนที่สนใจร่วมสนับสนุนงบประมาณสำหรับการดำเนินการ สามารถติดต่อเพื่อร่วมบริจาคได้ที่คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ หรือกรณีหน่วยงาน/ผู้นำชุมชนที่ต้องการเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่าย โดยมีค่าใช้จ่ายจากงบประมาณจากหน่วยงานของตนเอง โปรดระบุในใบสมัครเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

ขั้นตอนการผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวาด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง ทำได้ง่าย โดยนำถังหมักมาแบ่งปริมาณออกเป็น 4 ส่วน ใส่ผักตบชวาที่บดสับแล้ว 1 ส่วน จุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง 1 ส่วน น้ำ 1 ส่วน และปล่อยให้มีพื้นที่ว่าง 1 ส่วน ผสมให้เข้ากันอย่างทั่วถึง จะเกิดก๊าซชีวภาพที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ภายในเวลาประมาณ 10-15 วันแรก หลังจากนั้นสามารถเติมผักตบชวาเป็นระยะๆ การเกิดก๊าซจะลดลงในเวลาประมาณ 1-3 เดือน ซึ่งกากผักตบชวาหลังการหมักสามารถนำไปใช้คลุมโคนต้นไม้เพื่อเป็นวัสดุช่วยกักเก็บความชื้นในดินได้

ผู้สนใจสมัครเข้าร่วมเป็น 184 ภาคีเครือข่าย “ผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง” สามารถโหลดใบสมัครจากเว็บไซต์ www.flas.ku.ac.th และกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ส่งไปรษณีย์ด่วนพิเศษมายัง รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 73140 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อหมายเลขโทรศัพท์ 09-5054-8240 หรือ 08-3559-8448 อีเมล mppf@ku.ac.th หรือ molku@ku.ac.th ไลน์ ไอดี microku หรือ ajmaew
กำลังโหลดความคิดเห็น