xs
xsm
sm
md
lg

“ม.เกษตรกำแพงแสน” เตรียมลงแม่น้ำท่าจีนจัดการผักตบชวา หลังประสบผลสำเร็จปรับเปลี่ยนเป็นพลังงานก๊าซธรรมชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครปฐม - ศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ศจพภ. มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย แกลคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เตรียมลงพื้นที่แก้ปัญหาผักตบชวาล้นในแม่น้ำท่าจีนที่กำลังเกิดวิกฤต หลังประสบผลสำเร็จจากการทำวิจัยปรับเปลี่ยนผักตบชวาให้เป็นพลังงานก๊าซธรรมชาติ

วันนี้ (4 มิ.ย.) ดร.อนามัย ดำเนตร รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน (ศวท.มก.กพส.) จังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า หลังจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ประสบความสำเร็จจากการทำวิจัยปรับเปลี่ยนผักตบชวาให้เป็นพลังงานก๊าซธรรมชาติ

ต่อมา ทาง ศวท.มก.กพส.จังหวัดนครปฐม ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2557 ให้ดำเนินการเปิดอบรมเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกิดจากผลงานการทำวิจัยนี้แก่ชุมชน หน่วยงานต่างๆ ตลอดจนเกษตรกรผู้สนใจทั่วไป โดยมี รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ศจพภ. มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย รศ.จิตราภรณ์ ธวัชพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และนายขวัญชัย นิ่มอนันต์ หัวหน้าศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ศจพภ. มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เป็นฝ่ายดำเนินการอบมรม

หลังจากสิ้นสุดการอบรมแล้ว ต่อมา ศวท.มก.กพส.จังหวัดนครปฐม ก็ได้มอบหมายให้ รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ รศ.จิตราภรณ์ ธวัชพันธุ์ และนายขวัญชัย นิ่มอนันต์ และคณะลงพื้นที่ติดตามดูผลงานจากหน่วยงาน และชุมชนต่างๆ ที่เข้ารับการอบรมเพื่อติดตามดูว่าได้มีการนำความรู้จากการอบรมไปใช้ประโยชน์ให้เกิดประสิทธิผลอย่างสูงสุดได้อย่างไรบ้าง ซึ่งผลที่ออกมาก็เป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง

ด้าน รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ในการวิจัยนำผักตบชวามาดำเนินการในการผลิตเป็นก๊าซธรรมชาติ ซึ่งประสบผลสำเร็จ และนำมาใช้งานในครัวเรือนได้จริง ซึ่งเป็นผลมาจากความรร่วมมือกันระหว่างศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ศจพภ. มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

ต่อมา คณะทำงานได้ลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ เพื่อติดตามผลการนำองค์ความรู้จากการอบรมไปใช้ประโยชน์ โดยมีชุมชนคลองสามวา เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ที่เป็นหนึ่งในผู้เข้าอบรม พบว่าได้มีการนำเอาองค์ความรู้ที่ได้รับจากการเข้าอบรมไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากพื้นที่ชุมชนเขตมีนบุรีนั้นมีผักตบชวาปริมาณสูง ซึ่งก่อปัญหาในชุมชนมาเป็นเวลานาน

“แต่เดิมชาวชุมชนในเขตมีนบุรี ได้มีการกำจัดผักตบชวาด้วยการขนขึ้นจากแหล่งน้ำแล้วนำไปกำจัด ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนอกจากไม่เพียงสูญเสียงบประมาณในการเก็บผักตบขึ้นมาจากแหล่งน้ำแล้ว ยังต้องใช้งบประมาณในการกำจัดอีกเป็นจำนวนมากด้วย” รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ กล่าว

รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวอีกว่า หลังจากผลงานวิจัยดังกล่าวถูกนำมาเผยแพร่สู่สังคมก็ได้รับความสนใจจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนมากขึ้นตามลำดับ ล่าสุดนายอรรถพร สุวัธนเดชา รองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้เดินทางเข้ามาเยี่ยมชมโครงการ และได้แสดงความชื่นชมผลงานการวิจัยดังกล่าวของ ศวท.มก.กพส. ว่า สามารถนำมาแก้ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้ และสามารถปรับเปลี่ยนผักตบชวาที่เป้นปัญหาใหญ่ต่อแม่น้ำลำคลองให้เป็นพลังงานก๊าซธรรมชาติได้จริง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทีมงานเตรียมลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวาในแม่น้ำท่าจีน หรือแม่น้ำนครชัยศรี ที่กำลังเกิดวิกฤตเกี่ยวกับผักตบชวาอัดแน่นในแม่น้ำในขณะนี้ จนทำให้เกิดมลพิษ และปัญหาทางด้านการจราจรทางน้ำ และเป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกร และประชาชนที่ประสบปัญหาในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ในเขตพื้นที่อำเภอสามพราน อำเภอนครชัยศรี และอำเภอบางเลนในเร็วๆ นี้ด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น