xs
xsm
sm
md
lg

ทึ่ง! ศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ผลิตแก๊สครัวเรือนจากผักตบชวา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครปฐม - ศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ม.เกษตรกำแพงแสน แถลงผลิตแก๊สครัวเรือนจากผักตบชวา พร้อมอบรมปราชญ์ชาวบ้านเพื่อพัฒนาสู่พืชผักชนิดอื่น เผยเป็นความสำเร็จอีกขั้น เร่งทำเอกสารแจกจ่าย กระจายความรู้จากห้องวิจัยสู่ท้องถิ่น

วันนี้ (4 มี.ค.) ที่อาคาร อบน. ห้อง SIL 103 คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (ศวท.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม ดร.อนามัย ดำเนตร ที่ปรึกษาศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) หรือ ศจพภ. และคณบดี ศวท. รักษาราชการแทนอธิการบดี พร้อมด้วย รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ ผู้อำนวยการ ศจพภ. รศ.จิตราภรณ์ ธวัชพันธุ์ นายขวัญชัย นิ่มอนันต์ นายสมบัติ กลิ่นบุปผา นายกิตติเดช โพธิ์นิยม และนายอานนท์ สุวรรณประเสริฐ ร่วมแถลงข่าวผลงานวิจัย “ผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง” โดยมีผู้ที่เคยเข้าร่วมการอบรม คณะอาจารย์ และเจ้าหน้าที่เข้าร่วมจำนวนมาก

ดร.อนามัย เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประเภททุนกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่กลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพ ในการนำไปใช้ประโยชน์ภายใต้โครงการจัดการความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2557 ด้านพลังงานทดแทนเพื่อความยั่งยืน

โดยจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง ขณะนี้ได้ทำการอบรมครบทั้ง 3 รุ่นแล้ว ผู้เข้ารับการอบรมเข้าใจองค์ความรู้ และวิธีการวิจัยเกี่ยวกับการกำจัดผักตบชวา โดยนำมาทำให้เกิดก๊าซชีวภาพ (Biogas) ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในครัวเรือน หรือชุมชนขนาดเล็ก พร้อมได้รับถังหมักต้นแบบนำไปใช้ในชุมชน โดยเป็นการอบรมฟรี ส่วนกากผักตบชวาที่ผ่านการย่อยสลายแล้ว สามารถใช้เป็นวัสดุกักเก็บความชื้นและช่วยบำรุงดินได้

รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ต้องการให้สาธารณชนได้ทราบว่า การผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวาด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูงนั้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้นอกห้องวิจัยอย่างได้ผลจริง โดยวิธีผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวาด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง มี 2 ขั้นตอนง่ายๆดังนี้ 1.นำภาชนะปิดสนิท ขนาด 5-20 ลิตร สำหรับเก็บก๊าซ มีก๊อกเปิด-ปิด มาแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ใส่ผักตบชวาที่หั่น หรือบดแล้ว 1 ส่วน มูลสัตว์สด 1 ส่วน น้ำสะอาด 1 ส่วน ผสมให้เข้ากันอย่างทั่วถึง เหลือพื้นที่ว่าง 1 ส่วน ทิ้งไว้ 10-15 วัน จากนั้นทดสอบว่ามีก๊าซติดไฟหรือไม่ โดยใช้ลูกโป่งอัดแก๊สจากก๊อก

2.นำมูลสัตว์สดที่ทำให้เกิดก๊าซติดไฟจากข้อ 1 มาหมักในถังหมักขนาด 200 ลิตร ใช้อัตราส่วนเช่นเดิม คือ แบ่งพื้นที่ถังหมักออกเป็น 4 ส่วน ใส่ผักตบชวาที่หั่นหรือบดแล้ว 1 ส่วน มูลสัตว์สด 1 ส่วน น้ำสะอาด 1 ส่วน ผสมให้เข้ากัน เหลือพื้นที่ว่าง 1 ส่วน ทิ้งไว้ 10-15 วัน จากนั้นทดสอบว่ามีก๊าซติดไฟหรือไม่ โดยการต่อเข้ากับวาล์ว และหัวแก๊ส

รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมพร้อมลงพื้นที่ซึ่งประสบปัญหาผักตบชวา เพื่อนำองค์ความรู้ไปเสนอให้ชุมชนแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ร่วมถึงจะมีการเตรียมผลิตสื่อเผยแพร่ให้สังคมนำไปทดลองใช้ และจะมีการวิจัยอีกเรื่องพืชผักที่จะนำมาผลิตแก๊สเพื่อประโยชน์ของสังคมต่อไป





กำลังโหลดความคิดเห็น