นครปฐม - คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ที่ได้นำผลการวิจัยทดลองที่ประสบความสำเร็จเข้าร่วมเปิดให้ความรู้แก่ประชาชน ภายในงาน “20 ปี เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เพื่อผู้ประสบอุทกภัย” ณ บริเวณพระตำหนักวังสวนกุหลาบ พระราชวังดุสิต โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก โดยเฉพาะผลงานการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ผลิตแก๊สจากผักตบชวา หัวเชื้อจุลินทรีย์ช่วยเสริมการโตของพืช หัวเชื้อจุลินทรีย์ช่วยต้านโรคพืช หัวเชื้อจุลินทรีย์ช่วยต้านเพลี้ย หรือศัตรูพืช และหัวเชื้อจุลินทรีย์ช่วยบำบัดสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (25 ธ.ค.) ดร.อนามัย ดำเนตร ที่ปรึกษาและคณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (ศวท.) มหาวิทยาลัยเกษตรศษสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เปิดเผยว่า คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรตามพระดำริในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย องค์นายกกิตติมศักดิ์ตลอดพระชนม์ชีพ ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ในการนี้ได้มอบหมายบุคลากรของ ศวท.ได้แก่ รศ.จิตราภรณ์ ธวัชพันธุ์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ และนายขวัญชัย นิ่มอนันต์ เป็นหัวหน้าศูนย์ ซึ่งได้มีการนำผลการวิจัย ทดลองที่ประสบความสำเร็จเข้าร่วมเปิดให้ความรู้แก่ประชาชน ภายในงาน “20 ปี เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เพื่อผู้ประสบอุทกภัย” ณ บริเวณพระตำหนักวังสวนกุหลาบ พระราชวังดุสิต โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ดร.อนามัย กล่าวว่า ศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ)-ศวท.เป็นหน่วยงานที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย กับคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม มีภารกิจหลายด้านในการค้นคว้าวิจัยต่างๆ หลากหลายด้าน ซึ่งได้น้อมนำแนวทางตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529 ณ พระตำหนักจิตรลดาว่า
“หลักสำคัญต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ เพื่อการเพาะปลูก เพราะชีวิตนั้นถ้ามีน้ำคนนั้นอยู่ได้ ถ้าคนไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ท่านมีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้” น้ำเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า และมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษยชาติ รวมทั้งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการักษาสภาพสมดุลของธรรมชาติบนโลกไว้ น้ำถือเป็นแหล่งกำเนิดแห่งชีวิตแห่งการเกื้อกูลกัน จนมีคำกล่าวว่า “น้ำคือชีวิต” จึงมีการปฏิบัติงานวิจัยด้านการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ทางด้านเกษตร อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม
โดยมุ่งเน้นงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์แก่เกษตรกร และประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมและอย่างยั่งยืน ตามพระปณิธานของพระองค์โสมฯ และพระองค์ภาฯ การผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์มีประโยชน์ด้านต่างๆ ในอนาคตอันใกล้ เช่น หัวเชื้อจุลินทรีย์ผลิตแก๊สจากผักตบชวา หัวเชื้อจุลินทรีย์ช่วยเสริมการโตของพืช หัวเชื้อจุลินทรีย์ช่วยต้านโรคพืช หัวเชื้อจุลินทรีย์ช่วยต้านเพลี้ยหรือศัตรูพืช หัวเชื้อจุลินทรีย์ช่วยบำบัดสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ยังมีการฝึกอบรมให้ความรู้ด้านจุลินทรีย์ และการใช้ประโยชน์แก่ชุมชนของมูลนิธิฯ และประชาชนทั่วไป รวมทั้งภารกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้ด้านทรัพยากรจุลินทรีย์ ตามที่ได้รับมอบหมาย และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีในการทดลอง และเผยแพร่ผลงานสู่ชุมชน
ด้าน รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ)-ศวท.กล่าวว่า ศูนย์ฯ มีสำนักงานตั้งอยู่ ณ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความรู้ด้านการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์แก่สาธารณะ โดยในช่วงระหว่างวันที่ 19-28 ธันวาคม 2557 ศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ)-ศวท.ได้จัดแสดงองค์ความรู้ต่างๆ ในงาน “20 ปี เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เพื่อผู้ประสบอุทกภัย” ณ บริเวณพระตำหนักวังสวนกุหลาบ พระราชวังดุสิต
กิจกรรมไฮไลต์ของศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ)-ศวท.ในปีนี้ คือ การแสดงองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนผักตบชวาให้เป็นแก๊สชีวภาพด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง เป็นการสาธิตแบบย่อ ซึ่งผู้สนใจองค์ความรู้เรื่องนี้โดยละเอียดสามารถเขียนใบสมัครเพื่อเข้ารับการอบรม ซี่งจะเปิด 2 รุ่นๆ ละ 20 คน ในเดือนมกราคม การอบรมประกอบด้วย การบรรยายและปฏิบัติการองค์ความรู้ด้านพืชและจุลินทรีย์ การหมักผักตบชวา การสอนประกอบถังหมัก และจะได้รับถังหมักที่ท่านฝึกประกอบกลับไปเป็นถังต้นแบบใช้ในชุมชน การอบรมนี้เป็นการอบรมฟรีไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.
นอกจากนี้ ยังมีการแสดงองค์ความรู้ต่างๆ ที่ตอบโจทย์เกษตรกร เช่น คำถามของเกษตรกรที่ว่าน้ำหมักชีวภาพสูตรที่ใครๆ บอกว่าดี ทำไมเราใช้แล้วไม่ได้ผล คณะวิจัยได้ทำการศึกษาวิจัย โดยการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติของน้ำหมักชีวภาพสูตรต่างๆ ที่นิยมใช้จากทั่วประเทศ จนทราบสูตรที่มีคุณสมบัติดีในด้านการเร่งโต และด้านต้านโรค ซึ่งมีการแสดงวิธีการผลิตน้ำหมักชีวภาพทั้ง 2 สูตร หรือปัญหาจากเกษตรกรที่ว่า เมื่อเกษตรกรได้หัวเชื้อจุลินทรีย์มีประโยชน์มาจากหน่วยงานต่างๆ แต่ได้มาเพียงจำนวนน้อย อยากให้มีหัวเชื้อจำนวนมากขึ้นเพื่อเก็บไว้ใช้เอง เราจะสาธิตวิธีขยายหัวเชื้อแบบง่ายๆ สไตล์ชาวบ้าน ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถทำเองได้ที่บ้าน สะดวก ง่าย โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์อันสลับซับซ้อน
ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ)-ศวท.กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ในวันปิดงานคณะทำงานทุกคนต่างรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เมื่อศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงเสด็จเข้าชมผลงานการวิจัย พร้อมทรงเห็นดีด้วยในเรื่องการแก้ไขปัญหาผักตบชวาที่จะทำให้แหล่งน้ำต่างๆ เกิดปัญหา
โดยทรงแสดงความห่วงใยในเรื่องนี้ว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ทำให้ทีมงานทุกคน รวมถึงนักศึกษาที่ร่วมในการทำโครงการต่างมีความแน่วแน่ที่จะพัฒนา และสานต่อโครงการนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น โดยหวังจะเผยแพร่ไปยังหน่วยงานต่างๆ เกษตรกร และประชาชนที่ในแหล่งน้ำที่มีปัญหาผักตบชวานำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
โดยเกษตรกร และผู้สนใจสามารถแวะชมองค์ความรู้ด้านจุลินทรีย์เหล่านี้ ได้ที่บูทศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ)-ศวท.บริเวณเต็นท์ข้างน้ำพุ ติดกับการแสดงบ้านน็อกดาวน์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ณ วังสวนกุหลาบ ในงาน “20 ปี เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เพื่อผู้ประสบอุทกภัย” จนถึงวันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคมศกนี้
หรือติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมที่ รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) -ศวท. คุณขวัญชัย นิ่มอนันต์ หัวหน้าศูนย์ฯ หมายเลขโทรศัพท์ 08-3559 8448 หรืออีเมล mppfku@gmail.com ไลน์ไอดี microku ที่ตั้งสำนักงานคือ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 73140