นครปฐม - ทีมวิจัยด้านทรัพยากรจุลินทรีย์ โครงการจัดตั้งสายวิชาวิทยา ศวท.ร่วมมือสาขาวิชาวิชาพฤกษศาสตร์ สายวิชาวิทยาศาสตร์ สายวิชาจุลชีววิทยา ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขกำแพงแสน เดินหน้าเผยผลงานอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวาด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง โดยมีผู้นำชุมชนลุ่มน้ำท่าจีน พื้นที่ประสบปัญหาผักตบชวาล้นพื้นที่เข้าร่วมอบรมต่อยอดแก้ปัญหาในพื้นที่
วันนี้ (4 ธ.ค.) ที่อาคาร SC5 ชั้น 3 คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยด้านทรัพยากรจุลินทรีย์โครงการจัดตั้งสายวิชาจุลชีววิทยา ศวท. พร้อมด้วย รศ.จิตราภรณ์ ธวัชพันธุ์ สาชาวิชาพฤกษศาสตร์ สายวิชาวิทยาศาสตร์ ศวท. นายขวัญชัย นิ่มอนันต์ โครงการจัดตั้งสายวิชาจุลชีววิทยา ศวท. นายกิตติเดช โพธิ์นิยม วิศวกรประจำศูนย์เครื่องจักรกลแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ประจำวิทยาเขตกำแพงแสน
ได้ร่วมกันจัดการเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวาด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง โดยมีกลุ่มผู้ที่ให้ความสนใจร่วมในการเข้าอบรมเป็นผู้นำชุมชน จากจังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และพื้นที่ที่ประสบปัญหาในเรื่องเกี่ยวจำนวนของปริมาณผักตบชวาที่มีอยู่มากในพื้นที่ และสร้างปัญหาให้แก่สิ่งแวดล้อม และชุมชนเข้าร่วมในการอบรมดังกล่าว
รศ.จิตราภรณ์ ธวัชพันธุ์ สาชาวิชาพฤกษศาสตร์ สายวิชาวิทยาศาสตร์ ได้กล่าวถึงที่มาของผักตบชวา การขยายพันธุ์ และต้นกำเนิดในตั้งแต่แรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ในทุกสภาพน้ำ มีถิ่นกำเนิดในแถบลุ่มน้ำอะเมซอน ประเทศแถบอเมริกาใต้ การขยายพันธุ์เป็นการแยกต้นอ่อนที่ปลายไปปลูก มีประโยชน์ที่ดอกอ่อน และก้านใบอ่อนกินเป็นผักลวกจิ้มน้ำพริก หรือแกงส้ม ให้เป็นอาหารสัตว์ ทำปุ๋ยหมัก ทำเครื่องจักสาน มีสรรพคุณช่วยระบายความร้อนในร่างกาย และขับลม ใช้พอกทา หรือแก้แผลอักเสบ
ผักตบชวา นำเข้าสู่ประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2444 ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย เป็นไม่ประดับสวยงาม ต่อมา ได้ได้ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว กระทั่งมีพระราชกำจัดผักตบชวา พ.ศ.2456 ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นในแม่น้ำลำคลองในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน
ด้าน รศ.ดร.จุรีรัตน์ ลีสมิทธิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยด้านทรัพยากรจุลินทรีย์โครงการจัดตั้งสายวิชาจุลชีววิทยา ศวท. เปิดเผยว่า ในการจัดอบรมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประเภททุนกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่กลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์ ภายใต้โครงการจัดนำความรู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2557 ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากการวิจัยด้านพลังงานทดแทนเพื่อความยั่งยืน คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (ศวท.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งแบ่งการอบรมออกเป็นการบรรยายให้ความรู้ด้านพืชและจุลลินทรีย์ที่เกี่ยวข้อง การเยี่ยมชม และฟังการบรรยายในห้องปฏิบัติการทางจุลชีววิทยา การสาธิตวิธีการทดลองในระบบปฏิบัติการโดยปฏิบัติจริง การสาธิตการทดลองในการปฏิบัติการ
โดยจะเป็นการนำแนวคิดของการวิจัยที่นำจุลินทรีย์พันธุ์ต่างๆ จากคลังจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการหมักผักตบชวาทั้งแบบสด และแห้ง การตรวจสอบผลผลิตจากปฏิกิริยาการหมักของผักตบชวาของจุลินทรีย์ธรรมชาติว่ามีแก๊สแบบใด และเป็นแก๊สชนิดใด และสาธิตการประยุกต์นำถังน้ำพลาสติก 5 ลิตร มาใช้ในการเป็นถังหมัก และเก็บแก๊สที่ได้ รวมถึงการพัฒนาไปเป็นระบบถังแก๊ส แบบถัง 200 ลิตร
ซึ่งการหมักแก๊สชีวภาพจากธรรมชาติที่ประชาชนสามารถทำได้นั้น เป็นกระบวนการของจุลินทรีย์ที่สำคัญ เมื่อมีการย่อยอินทรีย์สารให้มีโมเลกุลเล็กลงเกิดเป็นสภาวะกรดต่างๆ ถึงขั้นหนึ่งจะมีจุลินทรีย์ประเภทที่ไม่ต้องการอากาศทำการย่อยให้กรดกลายเป็นแก๊สที่เกิดขึ้นเป็นแก๊สมีเทน มีคุณสมบัติในการจุดไฟได้ แต่การนำแก๊สมาใช้ประโยชน์จะต้องมีอุปกรณ์ที่จะช่วยสร้างสภาวะการย่อยสลายช่วยเก็บแก๊ส และลำเลียงแก๊สมาใช้ โดยมีอุปกรณ์คือ
1.ถังพลาสติกขนาด 200 ลิตร 2 ใบ 120 ลิตร 1 ใบ
2.อุปกรณ์ท่อเติมแก๊ส และท่อส่งแก๊ส
3.ท่อพีวีซี ขนาด 4 นิ้ว 1 เมตร
4.ข้องอเกลียวนอกขนาด 4 หุน 1 ตัว
ส่วนประกอบของท่อแก๊ส ของถังเก็บแก๊ส
1.3 ทาง 4 หุน 1 ตัว
2.หัวต่อสายยางเกลียวนอก 4 หุน 2 ตัว
ส่วนประกอบท่อระบายน้ำล้น และท่อระบายน้ำหมัก
1.ข้อต่อเกลียวนอกขนาด 1 นิ้ว 1 อัน
2.ข้อต่อเกลียวใน 1 นิ้ว 1 อัน
3.ท่อพีวิซี ขนาด 1 นิ้ว ตัดยาว 2 นิ้ว 1 อัน
4.3 ทางขนาด 3 นิ้ว (ชิ้นที่ 1) 1 อัน
5.ฝาปิดพีวีซี ขนาด 1 นิ้ว 1 อัน
6.ท่อพีวีซี ขนาด 1 นิ้ว ตัดยาว 40 เซนติเมตร 1 อัน
7.ท่อพีวีซี ขนาด 1 นิ้ว ตัดยาว 30 เซนติเมตร 1 อัน
8.3 ทาง 1 นิ้ว (ชิ้นที่ 2 ) 1 อัน
อุปกรณ์อื่นๆ
1.กิ๊บยึดท่อ 1 นิ้ว 1 อัน
2.กาวซีเมนต์ (กาวแห้ง 2 หลอดคู่) 1 ชุด
3.กาวซิลิโคน ชนิดใส 1 หลอด
4.สายยาง 3 หุน ยาว 5 เมตร 1 เส้น
วัตถุดิบที่ใช้ มูลสัตว์ (วัว, หมู) น้ำเศษอาหาร
วิธีการทำถังหมัก/ถังเก้บแก๊ส
ใบที่ 1 เป็นถังสำหรับหมักแก๊ส เป็นถังพลาสติกขนาด 200 ลิตร ระบบปิด ไม่ให้อากาศเข้าได้โดยมีช่องเติมวัตถุดิบ ช่องถ่ายกาก และท่อน้ำล้นด้ายระบบจะมีสายยางเพื่อลำเลียงแก๊สที่ได้ไปสู่ถังเก็บแก๊ส
ใบที่ 2 ถังเก็บแก๊สมี 2 ถัง ถังหงาย 200 ลิตร สำหรับเติมน้ำเพื่อกันแก๊สรั่ว
ใบที่ 3 ถังเก็บแก๊ส ขนาด 120 ลิตร ใช้คว่ำ ลงในถังใบที่ 2 ก่อนเติมน้ำ เพื่อป้องกันแก๊สรั่วในขณะเกิดแก๊ส ในขณะเกิดแก๊สถังใบที่ 3 จะลอยขึ้นจากถังหมักแก๊ส ไปสู่ถังเก็บแก๊ส จะต้องมีสายยางเชื่อมต่อเพื่อนำแก๊สไปใช้งานต่อไป
ทั้งนี้ การอบรมดังกล่าวได้ทราบว่าผู้ที่เข้ามาอบรมนั้นต้องการจะทราบถึงปัญหาการกำจัดและการนำผักตบชวาไปใช้ประโยชน์อื่นๆ นอกเหนือจากผลิตสิ่งของเครื่องใช้ โดยการนำมาหมักแก๊สชีวภาพนั้นทางโครงการรู้สึกยินดีที่ผู้ประสบปัญหาในพื้นที่จริงได้เข้ามาเพื่อศึกษาในการอบรม รวมทั้งยังพร้อมที่จะลงไปให้ความรู้ยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างชัดเจน สามารถทำได้จริง และง่ายต่อการผลิตโดยที่ผักตบชวาจะไม่เป็นปัญหาที่เป็นส่วนเกินต่อไป
โดยการอบรมทั้งหมดจะมี 3 รุ่น และผู้ที่เข้าอบรมแล้วจะสามารถนำความรู้นี้ไปเผยแพร่ต่อยังชุมชนของตนเอง เป็นการลดพลังงาน และนำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือมาก่อให้เกิดประโยชน์ ตามแนวคิดในการจัดงานเกษตรกำแพงแสน ประจำปี 2557 ซึ่งมีแนวคิดในการเรื่องของการตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยผู้ที่สนใจสามารถโทร.ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 08-3559-4483