xs
xsm
sm
md
lg

“ไกรวัลย์ ชูจิตต์” อดีต บก.ข่าวอาชญากรรมแนวหน้าแห่งยุค “เดลินิวส์” ปี 2507 เสียชีวิตแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - “ไกรวัลย์ ชูจิตต์” อดีตนักข่าวในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อดีตบรรณาธิการข่าวอาชญากรรม นสพ.เดลินิวส์ ปี 2507 อดีตผู้สื่อข่าวอาวุโสผู้จัดการรายวัน ศูนย์ข่าวภาคตะวันออก เสียชีวิตแล้วด้วยโรคชรา เมื่อประมาณตีหนึ่งเศษของวันนี้ ณ โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา กรุงเทพฯ

นายไกลวัลย์ ชูจิตต์ เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล แพทย์ปัญญา เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา หลังจากประสบอุบัติเหตุหกล้มภายในบ้านพักย่านหนองจอก ในช่วงวันแรกที่เข้าโรงพยาบาล นายไกรวัลย์ ยังไม่มีทีท่าว่าจะป่วยหนัก ยังพูดคุยหยอกล้อกับลูกหลานได้ ก่อนหน้านั้น นายไกรวัลย์ มีอาการโรคกระดูกพรุน และเป็นไส้เลื่อน เมื่อหกล้มครั้งนี้จึงทำให้กระดูกบางส่วนไปทิ่มปอด แพทย์ได้ทำการรักษาด้วยการเจาะช่องท้องเพื่อเอาเลือดที่คั่งอยู่ภายในออกมา

ประมาณวันที่ 8 กันยายน แพทย์ได้เอกซเรย์ร่างกาย และบอกญาติว่าคนไข้มีเสมหะในปอด พบเนื้องอก และมีอาการของโรคหัวใจ และหลังจากนั้นอาการเริ่มทรุดลง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจทั้งทางปาก และจมูก ต่อมา ในวันที่ 11 กันยายน เวลาประมาณตีหนึ่งเศษ นายไกรวัลย์ จึงสิ้นชีวิตอย่างสงบ รวมอายุได้ 85 ปี (เกิด 28กรกฎาคม 2473)

ทายาทของนายไกรวัลย์ คือ อี๊ด และโด่ง (อุษารัตน์-บุตรสาวคนเล็ก) จะนำร่างของบิดาไปทำพิธีทางศาสนาคริตส์ที่โบสถ์เซนต์เทเรซ่า ย่านหนองจอก ในวันเสาร์ที่ 12 กันยายนนี้ และจะมีพิธีสวด 2 วัน (วันที่12-13 กันยายน 58) วันจันทร์ที่ 14 กันยายน จะมีพิธีฝังศพ (สอบถามรายละเอียดได้ที่อุษารัตน์ (โด่ง) ชูจิตต์ บุตรสาวคนสุดท้อง 08-9684-1668)

*ประวัติย่อ นายไกรวัลย์ ชูจิตต์ อดีตบรรณาธิการข่าวอาชญากรรม เดลินิวส์ยุคก่อตั้งหนังสือพิมพ์
บันทึกไว้ โดยสุวัฒน์ กิขุนทด (อดีตผู้สื่อข่าวทีมข่าวอินโดจีน หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน)

“ไกรวัลย์ ชูจิตต์” เป็นตำนานของคนข่าว คนหนังสือพิมพ์ ทีผู้เขียนบันทึกไว้ วันนี้ท่านมีอายุ 85 ปี และล้มป่วยด้วยโรคชรา แต่ความจำต่างๆ ของท่านยังดี ข้อมูลที่นำมาเขียนจึงมาจากการพูดคุยสัมภาษณ์ และท่านก็ได้บันทึกเอาไว้ในหนังสือ “คนข่าวเล่าตำนาน” ที่ตีพิมพ์ออกมาในปี 2548

ไกรวัลย์ ชูจิตต์ โด่งดังเป็น 1 ระดับตำนานของนักข่าว-นักหนังสือพิมพ์ ท่านก็เคยร่วมงานกับนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ในอดีตหลายคน เช่น อิศรา อมันตกุล นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย และนักเขียนเรื่องสั้นชื่อดัง กำพล วัชรพล ผู้สร้างอาณาจักรไทยรัฐ สนิท เอกชัย เจ้าของนามปากกา “เรือใบ” และที่สำคัญท่านคือ 1 ในผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เมื่อปี 2507 ผ่านงานข่าวอาชญากรรม และการเมืองดังๆ มามากมาย

ชีวิตนักข่าวหลังสงครามโลก

ไกรวัลย์ เกิด 28 ก.ค.ปี 2473 ที่บางบัวทอง จ.นนทบุรี เรียนจบชั้นมัธยม 6 ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ย่านสามเสน ในช่วงสงครามโลกเคยเป็นยุวชนทหารเหมือนกับนักเรียนชายในสมัยนั้น ช่วงเรียนหนังสือเขาใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักบิน แต่ไม่สมหวัง ได้แต่แหงนหน้ามองเครื่องบิน พอเรียนจบญาติผู้ใหญ่พาไปฝากฝังให้เข้าทำงานหนังสือพิมพ์ สมัยนั้นยังไม่มีการเปิดสอนวิชาหนังสือพิมพ์ในมหาวิทยาลัย นักข่าว-นักหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นส่วนใหญ่จึงใช้วิธีครูพักลักจำ เรียนรู้การทำข่าวจากรุ่นพี่ๆ ที่ถ่ายทอดวิชาการทำข่าวให้อีกทอดหนึ่ง และทำด้วยใจรักการขีดเขียน การต่อสู้เพื่อเป็นปากเสียงให้ประชาชนเป็นทุนเดิม

นักหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นได้เป็นนักเขียนชื่อดังหลายคน เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์, มาลัย ชูพินิจ, มนัส จรรยงค์, โชติ แพร่พันธุ์ หรือ “ยาขอบ” ฯลฯ

ไกรวัลย์เ ริ่มต้นทำงานที่หนังสือพิมพ์เสียงไทยรายวันในปี 2489 เมื่ออายุได้เพียง 16 ปี ตำแหน่งแรกก็คือ “ออฟฟิศบอย” เรียกให้โก้เข้าไว้ ที่จริงก็คือเด็กรับใช้ประจำโรงพิมพ์นั่นแหละ คือทำตั้งแต่วิ่งไปซื้อโอวเลี้ยง กวาดเก็บกระดาษ พับหน้ากระดาษจากแท่นพิมพ์ให้ตรงลำดับหน้า พับเข้าเล่ม ใช้แท่นพิมพ์แบบ “ฉับแกระ” ต้องป้อนกระดาษทีละแผ่น กว่าจะพิมพ์เสร็จก็เกือบ 4 โมงเย็น ทันเวลาเลิกงานตอนเย็นของข้าราชการ วางขายฉบับละ 50 สตางค์

“ผมไม่ต้องวิ่งเอาหนังสือพิมพ์ไปวางแผงหรอก แต่มีหน้าที่ปั่นจักรยานเอาหนังสือพิมพ์ไปส่งให้สมาชิกประจำ วันละ 20 ฉบับ กว่าจะส่งเสร็จก็ค่ำมืด ตอนนั้นเป็นช่วงหลังสงครามโลกจบลงใหม่ๆ ข้าวของขาดแคลน กางเกงยังต้องปะตูด ยางในก็ปะกันแทบจะพรุน ถ้าไม่มีก็ต้องใช้ยางพารานี่แหละเอามาขดให้เข้ากับวงล้อจักรยาน เวลานั่งก็จะเจ็บก้นหน่อย เพราะถนนก็ไม่ดี ยางก็แข็ง ต้องหาผ้ามาพันเบาะ ไม่งั้นริดสีดวงกินเอา ไฟหน้ารถก็ใช้ตะเกียงน้ำมันมะพร้าวนี่แหละ หาอะไรมาปิดบังลมกันตะเกียงดับ” อาจารย์ไกรวัลย์ เล่าย้อนไปสมัยเริ่มต้นการทำงาน (ขออนุญาตใช้สรรพนามตามที่ผู้เขียนใช้ประจำ)

รายได้ตอนนั้นตกประมาณเดือนละ 180 บาท บวกกับรายได้พิเศษจากค่าส่งหนังสือพิมพ์อีก 40 บาท ก็พออยู่ได้ใน (ยุคนั้น) เพราะโรงพิมพ์จะเลี้ยงข้าววันละ 2 มือ คือ มื้อเที่ยงกับมื้อค่ำ มื้อเช้าก็ล่อข้าวแกงอิ่มละไม่กี่สตางค์ ส่วนบ้านก็ไม่ต้องเช่า อาศัยนอนที่โรงพิมพ์นั่นแหละ ปูเสื่อ หรือเอากระดาษหนังสือพิมพ์มารองแทนฟูก เปิดพัดลมเพดานไล่ยุง เรียกว่ากินนอนอยู่ในโรงพิมพ์ ซึบซับกลิ่นหมึก กลิ่นกระดาษมาตั้งแต่ครั้งนั้น

เป็นออฟฟิศบอยได้ประมาณ 3 เดือน ไกรวัลย์ ก็ขยับขึ้นมาทำข่าว เมื่อก่อนนักข่าวส่วนใหญ่จะเริ่มต้นจากการเป็นนักข่าวอาชญากรรม หรือข่าวโรงพัก ศูนย์กลางของข่าวก็คือ โรงพยาบาลกลาง เพราะในสมัยนั้นในกรุงเทพฯ ยังมีโรงพยาบาลใหญ่ไม่กี่แห่ง ใครถูกตี ถูกแทง เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่ก็จะส่งมาที่นี่ นักข่าวจากฉบับต่างๆ ก็จะมารอทำข่าวกันทุกวัน ได้ข่าวมาแล้วก็ข้ามฟากไปหาที่นั่งที่ร้านกาแฟตรงข้ามกับโรงพยาบาลกลาง เพราะสะดวกกว่าที่จะกลับโรงพิมพ์ สั่งกาแฟห รือโอวเลี้ยงมาคนละแก้วก็นั่งเขียนข่าวได้ทั้งวัน

ส่วนอุปกรณ์ในการทำข่าวก็แทบจะไม่มีอะไร มีเพียงกระดาษ ดินสอ หรือปากกา เทปอัดเสียงยังไม่เกิด ขนาดโทรศัพท์สาธารณะโทรเข้าโรงพิมพ์ยังหายาก ต้องนั่งรถราง หรือสามล้อถีบกลับไปส่งข่าวที่โรงพิมพ์ ส่วนช่างภาพก็จะมีกล้องประจำตัวเป็นของโรงพิมพ์ ที่ทันสมัยตอนนั้นจะเป็นยี่ห้อ “ไซส์อิคอน” มีไฟแฟลชใหญ่เบ้อเร่อเบ้อร่าเหมือนกับไฟสปอตไลต์

สำหรับการเดินทางไปทำข่าว นักข่าวส่วนใหญ่ก็มักจะไส้แห้งไม่มีใครมีรถยนต์เป็นของตัวเอง จักรยานพอมีบ้าง เช่น “แช่ม ชื่นชีพ” นักข่าวอาวุโสในขณะนั้น อ.แช่ม จะขี่จักรยานสองล้อ ด้านหน้าใช้กระป๋องสี่เหลี่ยมมาทำเป็นสัมภาระเก็บของ ปิด-เปิดและกันน้ำได้ ใส่สมุดจดข่าว หรือเอกสารต่างๆ ส่วนนักข่าวหนุ่มก็ๆ จะนั่งรถรางไปทำข่าวได้รอบเมือง ยืนหรือนั่งบนชั้นหนึ่งดูโก้ชะมัด ส่วนใหญ่โรงพิมพ์ก็จะให้เงินเบี้ยเลี้ยงทำข่าววันละ 5 บาท

สะสมประสบการณ์ทำข่าวมาได้ 3-4 ปี ในปี 2492 สถานการณ์ทางการเมืองไทยเริ่มรุนแรงขึ้น เกิดกบฏ “วังหลวง” และ “คดีสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรี” ในช่วงต้นปีนั้นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลถูกจับ ถูกสังหาร นักหนังสือพิมพ์ เช่น สุรีย์ ทองวานิช เจ้าของหนังสือพิมพ์ที่ไกรวัลย์ทำงานอยู่ถูกมือปืนตามมายิงถึงหน้าโรงพิมพ์ แต่เดชะบุญคุณสุรีย์ ยังดวงแข็ง ไม่ตาย แต่พิการ โรงพิมพ์ถูกโซ่ล่ามแท่นพิมพ์ และต้องลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองจีน (ภายหลังบริษัทซีพี.ของเจ้าสัว ธนินทร์ แต่งตั้งให้คุณสุรีย์ เป็นที่ปรึกษาการลงทุนในจีนเพราะมีคอนเน็กชันมากมายอยู่ที่นั่น) ส่วนนักข่าวและพนักงานคนอื่นๆ ก็แยกย้ายกระจัดกระจายกันไปเหมือนนกไร้รัง

คนหนังสือพิมพ์ผู้จองหอง

ในยุคที่บ้านเมืองยังเป็นเผด็จการ มี “จอมพล” มากมายนั้น จ้าของหนังสือพิมพ์ หรือนายทุนจะต้องเพลาๆ ข่าวการเมืองเอาไว้ บางฉบับผู้ที่มีอำนาจนั่นแหละเป็นเจ้าของตัวจริง ดังนั้น กองบรรณาธิการก็จะต้องสนองนโยบายของเจ้าของเงิน หากขัดใจกันขึ้นมาเจ้าของก็อาจสั่งเปลี่ยนกองบรรณาธิการยกชุด แต่ก็มีอยู่หลายครั้งที่นักหนังสือพิมพ์ที่หยิ่งในศักดิ์ศรีจะยกขบวนกันออกมาเอง แล้วเดินเรียงแถวย่ำต๊อกไปหางานใหม่ทำ

ผู้เขียนขอแทรกเป็นเกร็ดสักเล็กน้อยว่า “ส.อาสนจินดา” นักแสดง และผู้กำกับชื่อดังที่ล่วงลับไปหลายปีแล้วนั้น เคยทำงานหนังสือพิมพ์ในระดับบรรณาธิการมาก่อน ในช่วงหลังปี 2489 เขาเคยเป็น บก.ของ นสพ. “8 พฤศจิ” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของฝ่ายรัฐบาล มีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้า ต่อมาคณะรัฐประหารได้สั่งจับนักหนังสือพิมพ์ที่มีความเห็นตรงข้ามกับรัฐบาลไปจับกุมคุมขัง ส.อาสนจินดา เห็นว่าการกระทำของรัฐบาลไม่ถูกต้อง เขาจึงเขียนบทนำของ บก. คัดค้าน และตำหนิการกระทำดังกล่าว แน่นอนว่ามันเป็นเหมือนกับการทุบหม้อข้าวตัวเอง เพราะในอาทิตย์นั้นเงินค่าใช้จ่ายสำหรับกองบรรณาธิการไม่ออกตามกำหนด ส.อาสนจินดา จึงรับผิดชอบด้วยการลาออก

“และด้วยชุดเวสปอยท์ขาดๆ (ก้นขาด) อันเป็นเครื่องแต่งกายที่มีชุดเดียว รองเท้าไม่มี พร้อมด้วยมุ้งเก่าคร่ำ (เคยใช้เป็นผ้าห่มบนโต๊ะเขียนหนังสือ) ส.อาสนจินดา เดินออกจากโรงพิมพ์...ข้ามสะพานผ่านฟ้าท่ามกลางเปลวแดดเปรี้ยง ยางมะตอยบนนถนนกำลังเยิ้ม เท้าเปลือยเปล่าของเขาเหยียบลงไปบนยางมะตอยร้อนระอุทีละก้าวอย่างเจ็บปวดแต่มั่นคง...กลับไปสู่วัดมหรรณพฯ...” (ส.อาสนจินดา นักหนังสือพิมพ์ผู้จองหอง โดยราเชนทร์ วฒนปรีชากุล)

นั่นคือภาพของนักหนังสือพิมพ์ที่ยิ่งทระนง แม้จะยากจน ไม่มีบ้านอยู่ ต้องกลับไปอาศัยวัด และข้าวก้นบาตร แต่ด้วยศักดิ์ศรีของคนหนังสือพิมพ์เขาจึงยอมอดอย่างเสือ ก่อนที่ชะตาชีวิตจะพลิกผันให้เข้าสู่วงการละคร...ผู้เขียนจึงขอคารวะ และบันทึกเอาไว้ ณ ที่นี้

ย้อนกลับมาที่ไกรวัลย์ ชูจิตต์ แม้โรงพิมพ์เสียงไทยรายวันจะโดนล่ามโซ่แท่นพิมพ์ไปแล้ว แต่ด้วยความหนุ่มแน่น วัยเพิ่งย่าง 20 ปี เขาจึงตระเวนหางานข่าวไม่อยากนัก และเพิ่มพูนประสบการณ์งานเขียน และงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ เช่น หลักเมืองรายวัน, ประชาธิปไตยรายวัน, หนังสือพิมพ์เช้า เดลิเมล์รายวัน หนังสือพิมพ์บางกอกเวิร์ล ภาษาอังกฤษ ฯลฯ รวมทั้งเขียนสารคดีเบื้องหลังข่าวลงใน “เดลิเมล์เบื้องหลังข่าว” (ฉบับปฐมฤกษ์ออกในปี 2495) เจ้าของคือ “แสง เหตระกูล” ได้ค่าเรื่องๆ ละ 200 บาท สมัยนั้นข้าราชการบรรจุใหม่มีเงินเดือนเพียง 80 บาท

ตามธรรมเนียมเวลาเงินเดือนออก หรือใครมีรายได้พิเศษก็มักจะพาเพื่อนฝูงไปเลี้ยง สมัยนั้นก็มีร้านดังๆ อยู่หลายร้านแล้วแต่ว่าสะดวกทำเลไหน หากเป็นย่านสะพานพุทธฯ หรือฝั่งธนบุรีก็ต้องไปที่ “ร้านนายเง้า” ตั้งอยู่ตรงปากตรอกพญาไม้ ร้านนี้ตอนเย็นๆ คอสุราคับคั่ง เพราะได้ชื่อว่าแช่โซดาเย็นเป็นวุ้น ส่วนอาหารก็มีหลายหลาก โดยเฉพาะยำต่างๆ รสชาติจัดจ้าน รวมทั้งหอยแครงลวก หากเป็นย่านประตูน้ำก็เป็นร้านแหนมแช่เย็น “จิตสดใส” ย่านกองปราบฯ สามยอดก็เป็นร้านอาโกเจ้าก่า ทำปลาไหลผัดเผ็ด, ผัดเผ็ดแย้สดใส่พริกไทยอ่อน รวมทั้งเชิงตะพาบน้ำผัดพริกแกง แกล้มน้ำจัณฑ์ทำให้เลือดลมไหลซู่ซ่า ฯลฯ

ไกรวัลย์ เล่าว่าในช่วงนั้นกรุงเทพฯ มีโรงฝิ่นอยู่หลายแห่ง ที่นิยมก็เช่น โรงยาฝิ่นสามแยกเจริญกรุงใกล้ศาลาเฉลิมบุรี โรงยาตลาดบำเพ็ญบุญ และโรงยาต้นโพธิ์สี่กั๊กพระยาศรีใกล้บ้านหม้อ บรรดาลูกศิษย์พระอภัยมณีก็จะเดินเอวอ่อนเข้าโรงยาเจ้าประจำของตน บางทีตำรวจก็จะมาหาข่าวที่นี่ ซื้อฝิ่นชั้น 3 (มีขี้ยามากกว่าเนื้อ) ให้สายสืบเป็นรางวัล นานวันเข้าทั้งสก็อตทั้งโปลิศพากันติดฝิ่นจนตัวเหลือง มีนักข่าวบางคนที่เข้ามาคุ้ยข่าวในโรงยาบ้าง แต่เผลอควงปี่พระอภัยเข้าไปบ่อยๆ จึงต้องเปลี่ยนอาชีพ ส่วนไกรวัลย์ กับพรรคพวกนั้นนิยมน้ำจัณฑ์มากกว่า ไม่มีใครชอบกลืนควัน (ต่อมาในปี 2502 จอมพลสฤษดิ์ สั่งปิดโรงฝิ่นทั่วประเทศ มีการนำบ้องฝิ่นมาเผาทำลายที่ท้องสนามหลวง)

นกน้อยในไร่ส้ม

ชีวิตของนักข่าวในยุคที่ไกรวัลย์ ยังหนุ่มแน่นยังไม่มีครอบครัว ก็เช่นเดียวกับนักข่าวคนอื่นๆ บางคืนต้องตระเวน หรือเฝ้าข่าวอยู่จนดึกดื่น รถราก็ไม่มีมากมายเหมือนในสมัยนี้ บางคนจึงต้องอาศัยโรงพิมพ์เป็นที่หลับนอน ไม่ก็อาศัยโรงพักนั่นแหละ เพราะหากมีข่าวด่วนขึ้นมาจะได้อาศัยรถตำรวจไปทำข่าวได้ทันที แต่ในยามอู้ฟู่ก็อาจจะเปิดโรงแรมในย่านกองปราบฯ แถวสวนมะลิ หรือบำรุงเมืองนั่นแหละเป็นที่พักผ่อนชั่วคราว ไม่ได้อยู่เป็นที่เป็นทางเหมือนกับชีวิตของนกน้อยที่ต้องร่อนเร่พเนจรไปเรื่อยๆ

ดังนั้น เมื่อมีคนนำเอาเนื้อเพลง “นกน้อยในไร่ส้ม” มาร้องในวงเหล้าวงข้าวของคนข่าวคนหนังสือพิมพ์ เนื้อหาของเพลงจึงติดตรึงใจจนกลายเป็นเพลงประจำในวงเหล้า หรือเป็นเพลงแสดงสัญลักษณ์ของสื่อมวลชนไป ทั้งๆ ที่เพลงนี้เป็นเพลงที่นิสิตเกษตรศาสตร์ในยุคแรกๆ แต่งขึ้นมาขับร้องในยามที่ไปออกค่าย หรือไปฝึกงานในต่างจังหวัด ไม่ทราบปีที่แต่งแน่ชัด แต่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก่อตั้งในปี 2486 ดังนั้น เพลงนี้จึงต้องแต่งหลังปีดังกล่าว แต่อาจจะอยู่ในช่วงหลังปี 2500 ขึ้นไป เพราะไกรวัลย์ บอกว่าในช่วงนั้นก็เคยร้องเพลงนี้มาแล้ว สำหรับเนื้อเพลงมีดังนี้...

“พวกเราสูงศักดิ์ สูงนัก สูงหนา ร่อนเร่ เคหาไม่มี ค่ำไหนนอนนั่น ไม่หวั่น ไม่หวาด รักษาเอกราชเสรี
เราเหล่าสกุณา ร่มไม้ใบหญ้า เราก็กล้านอนๆ บ่ห่อนเกรงภัยใดๆ
ค่ำลง...บันเทิง...เริงใจ (ลูกคู่) ฮะฮ่า...เริงใจ ...
ชีวิตชะเอยสดใส เหมือนนกน้อยในไร่ส้ม เราไม่ปรารมภ์กับสิ่งใดๆ
มีกิน มีใช้เป็นพอ ไม่ขอรบกวนผู้ใด
มีเงินมีทอง ไม่ต้องคิดอะไร ซื้อเหล้าใส่ไหไว้กิน
กับแกล้มไม่ต้อง (ลูกคู่) เป็นของไม่ดี (ลูกคู่)
หมดเปลืองใช่ที่...ถ้ามี...ก็เอา..(ตอนท้ายจบด้วยเสียงสูง)
คุณธรรม-น้ำหมึก

ในช่วงหลังกึ่งพุทธกาลปี 2500 ไกรวัลย์ ยังทำงานข่าวอยู่ที่หนังสือพิมพ์เดลิเมล์รายวัน มี “พี่เอื้อย” อิศรา อมันตกุล รับตำแหน่งบรรณาธิการ ผลงานข่าวที่ไกรวัลย์ และทีมข่าวอาชญากรรมช่วยกันแคะคุ้ยก็เช่น คดี “ซีอุย” กินตับเด็ก ทั้งนักข่าว และตำรวจใช้เวลาเป็นปีกว่าซีอุยจะไปจนมุมที่ระยอง และถูกจับได้ในเดือนมกราคม 2501 (ต่อมาในปี 2502 ซีอุยถูกมาตรา 17 ของจอมพลสฤษดิ์ สั่งยิงเป้า)

ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน จอมพลสฤษดิ์ ทำการยึดอำนาจตัวเอง แล้วก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี นักหนังสือพิมพ์ชื่อดังระดับบรรณาธิการหลายคน รวมทั้งอิศรา อมันตกุล ถูกจับเข้าคุกข้อหามีการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์ ส่วนไกรวัลย์ ยังอยู่ในระดับลูกแถว ไม่โดนจับ แต่หนังสือพิมพ์ถูกปิด ต้องตระเวนหางานใหม่ ในช่วงนี้ถือว่าเป็นยุคมืดของหนังสือพิมพ์อย่างแท้จริง เพราะจอมพลสฤษดิ์มีอำนาจล้นฟ้า มีมาตรา 17 เป็นเครื่องมือสั่งยิงเป้าบรรดาอาชญากร รวมทั้งคนที่มีความคิดเห็นต่างก็ได้ บรรดาหนังสือพิมพ์ต้องหันไปเสนอข่าวอาชญากรรมเป็นหลัก

ไกรวัลย์ เล่าว่าในช่วงที่นักหนังสือพิมพ์ชื่อดังโดนจับเข้าคุกลาดยาว (บางเขน) นั้น เขาเคยไปเยี่ยมหลายครั้ง ปรากฏว่า คนที่ติดอยู่ในคุกนานๆ จะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสียงเครื่องบินไปเลย เพราะเครื่องบินที่จะขึ้น-ลงที่ดอนเมืองจะต้องบินผ่านคุกลาดยาวในระดับต่ำทุกวัน วันละหลายครั้ง เพื่อเป็นการแก้เซ็งผู้ต้องขังจึงเอาเสียงเครื่องบินมาทายกันสนุกๆ โดยไม่ต้องหันขึ้นไปมองท้องฟ้าว่า เครื่องบินที่กำลังบินผ่านเป็นเครื่องบินประเภทใด สายการบินใด

“ผมเคยให้ศิษย์ลาดยาวที่นั่นลองทายดูตอนที่ไปเยี่ยม พอดีมีเครื่องบินบินผ่านมา ปรากฏว่า แม่นจริงๆ ไม่ได้โม้” อ.ไกรวัลย์ เล่าพร้อมกับหัวเราะลงลูกคอดังหุ..หุ..ตามสไตล์

หลังเดลิเมล์ถูกปิดในปี 2501 ไกลวัลย์ ไปทำงานที่หนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์ฉบับภาษาอังกฤษ ส่วนพรรคพวกก็แยกย้ายกระจายไปฉบับต่างๆ ที่ต้องบันทึกเอาไว้เป็นประวัติศาสตร์ของวงการหนังสือพิมพ์ไทย (อาจจะระดับโลกก็ได้) ก็คือ “นสพ.กรุงเทพรายวัน” มี “สนอง มณีศรี” เป็นบรรณาธิการ ก.สนอง เคยเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ผานงานหนังสือพิมพ์มาหลายฉบับ เป็นคนรักลูกน้อง ชอบดื่ม (“น้าหงา” สุรชัย จันทิมาทร นักเพลงเพื่อชีวิตชื่อดังสมัยที่ยังไม่เล่นดนตรีเคยทำงานเป็นฝ่ายศิลป์อยู่กับ บก.สนอง เล่าเอาไว้ในหนังสือ “ถนนนักเขียน” เมื่อหลายปีก่อนว่า เวลา บก.สนอง โมโหนายทุนก็จะระบายแค้นด้วยการปัสสาวะจากออฟฟิศชั้นบนลงมาข้างล่าง ลูกน้องต้องหลบกันจ้าละหวั่น)

เมื่อ นสพ.กรุงเทพรายวัน วางแผงได้ไม่นานก็เริ่มติดตลาด เพราะช่วงนั้นหนังสือพิมพ์ถูกปิดไปเยอะ โฆษณาเริ่มเข้ามา แต่หนังสือมีเพียง 10 หน้า (มี 8 หน้า แต่มีใบแทรกเป็นโฆษณา 2 หน้า) พื้นที่ข่าวจึงถูกจำกัด บก.สนอง เสนอให้นายทุนเพิ่มหน้า แต่นายทุน (ชื่อคุณนายชะนี เป็นเจ้าของกิจการรถเมล์ และอื่นๆ) ไม่สนใจ คงปล่อยให้โฆษณาเข้ามาแย่งพื้นที่ข่าว ทำให้ทีมงาน บก.อึดอัดใจ เพราะเนื้อข่าวหดหาย สั้นจู๋ คนอ่านแทบจะไม่ได้รายละเอียดของข่าว

แล้ววันโลกาวินาศก็มาถึง...เช้าวันนั้นกรุงเทพรายวันวางแผงตามปกติ พอตอนสายๆ เสียงโทรศัพท์เข้าออฟฟิศดังระงม ส่วนใหญ่เป็นผู้อ่านที่โทร.เข้ามา มีทั้งต่อว่า...มีทั้งเสียงหัวเราะ แบบว่าขำกลิ้งแต่เศร้าใจ เพราะแม้ว่าในหน้า 1 จะมีเนื้อข่าวและภาพข่าวตามปกติ แต่ตอนท้ายของข่าวหน้า 1 ซึ่งในวันนั้นมีอยู่ประมาณ 8-9 ข่าว จะต้องบอกว่าอ่านต่อหน้าไหน แต่ บก.สนองวงเล็บไว้ว่า....(โปรดอ่านต่อฉบับอื่น)

“ค่ำวันนั้น ทีมงานกรุงเทพรายวันเดินชักแถวจากออฟฟิศย่านอนุสาวรีย์ชัย มาหาผมที่บางกอกเวิลด์ ย่านหลานหลวง ไกลโขอยู่ ไม่มีสตางค์แม้แต่ค่ารถเมล์ เพราะคุณนายชะนีไม่ยอมจ่ายเงิน อ้างว่าเป็นค่าชดเชยความเสียหายของหนังสือ ผมก็ต้องสั่งน้ำจัณฑ์มาปลอบใจกันหลายขวด..จนดึกดื่น” อ.ไกรวัลย์ เล่าถึงวันโลกแตกของชาวกรุงเทพรายวัน

แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ มีช่างภาพคนหนึ่งสะกดอารมณ์ไม่อยู่ใช้กำปั้นทะลวงไปที่โต๊ะทำงานเพื่อระบายแค้น แต่ปรากฏว่าโต๊ะตัวนั้นทำด้วยไม้อัดจึงไม่หนามากนัก แรงแค้นจึงทำให้กำปั้นทะลุโต๊ะลงไป เลือดไหลโชก แต่พอจะดึงมือออกก็ดึงไม่ได้ เพื่อนฝูงต้องไปหาเลื่อยมาผ่าโต๊ะ ทำแผลเสร็จจึงยกโขยงไปหาไกรวัลย์

หลังจอมพลสฤษดิ์ เสียชีวิตไปแล้วในปี 2506 บรรยากาศทางการเมืองดีขึ้น เจ้าของ นสพ.เดลิเมล์ ที่โดนปิดไปก่อนหน้านั้น คือ “แสง เหตระกูล” จึงเตรียมเปิดหนังสือพิมพ์ใหม่ในชื่อ “แนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์” (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นเดลินิวส์) มีสนิท เอกชัย เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ และเชลง กัทลีรดะพันธ์ เป็นสตาฟคนสำคัญเป็นบรรณาธิการข่าวในประเทศ (คุมการเซ็นใบเบิกจ่ายเงินทุกชนิดและอื่นๆ) ไกรวัลย์ ชูจิตต์ ซึ่งตอนนั้นเป็นนักข่าวอาชญากรรมชื่อดังถูกดึงเข้ามาเป็นบรรณาธิการข่าวอาชญากรรม อยู่ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งด้วย มีสิทธิเทียบเท่ากรรมการบริษัท คือ จะได้รับเงินปันผลเป็นรายงวดด้วย

เดลินิวส์ฉบับปฐมฤกษ์วางแผงในวันที่ 28 มีนาคม 2507 แล้ว (ภายหลังอิศรา อมันตกุล ถูกปล่อยออกมาจากลาดยาวแล้ว ในปี 2508 จึงเข้ามาร่วมงานที่เดลินิวส์ เป็นรองหัวหน้ากองบรรณาธิการ เขียนคอลัมณ์ เหนือ ใต้ ออก ตกที่หน้า 3 ใช้นามปากกา เจดีย์ กลางแดด และเขียนคอลัมน์สอนภาษาอังกฤษวันละคำในนามปากกา แฟร๊งค์ ฟรีแมน จนกระทั่งล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง และเสียชีวิตในปี 2512

ก่อนหน้านั้น ในเดือนกันยายนปี2507 คุณสนิทเอกชัย กับคุณเชลง กัทลีรดะพันธ์ ซึ่งถูกจับเอาไปขังลืมที่เรือนจำลาดยาวบางเขนเสีย 5 ปีเศษ (เช่นเดียวกันกับนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ นักคิด นักเขียนจากหลายสำนัก มีจำนวนมากสำหรับคุกลาดยาวในข้อหาครอบจักรวาล คือ มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ รวมทั้ง อิศรา อมันตกุล อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์ค่ายสี่พระยา นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรกปี 2499 ที่ถูกกวาดจับไปติดคุกในปี2501) และเพิ่งได้รับอิสรภาพ ได้รับการปลดปล่อยตัวออกมา...

และ “กัปตันเรือใบ” สนิท เอกชัย กับคณะจึงนำพา “เดลินิวส์” ออกฉบับปฐมฤกษ์ วันเสาร์เดือนห้า ขึ้นสิบห้าค่ำ ปีมะโรง ตรงกันกับวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2507 ถือว่าเป็นวันดีศรีวัน นับแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปี 2507 นี้ รวม 208 ปี มีเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ฤกษ์นี้แหละเป็นฤกษ์ “ขุนแผนตีดาบฟ้าฟื้น” ผู้ที่ให้ฤกษ์คือนายแพทย์ประจวบ วัชรปาน โหรประจำตัวจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์...

ไกรวัลย์ เป็นบรรณาธิการข่าวอาชญากรรมที่เดลินิวส์นาน 11 ปี (ออกจากเดลินิวส์ต้นปี 2518) ลาออกด้วยเหตุผลส่วนตัว หลังจากนั้น ในปี 2527 จึงมาช่วยงานที่หนังสือพิมพ์ “เสียงตะวันออกรายวัน” ที่ จ.ชลบุรี ซึ่งมี “สุรัตน์ บัณฑิตย์” อดีตนักข่าวเดลินิวส์เป็นบรรณาธิการและเจ้าของ และกว่าที่ผู้เขียนจะมาร่วมงาน และกลายเป็นศิษย์คนสุดท้ายของ อ.ไกรวัลย์ ก็ปาเข้าไปในปี 2534 เนื่องจากในตอนนั้นหนังสือพิมพ์รายวันที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ในกรุงเทพฯ ได้เข้ามาเทกโอเวอร์ นสพ.เสียงตะวันออก เพื่อเตรียมออกหนังสือพิมพ์ฉบับภูมิภาค

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ได้ใกล้ชิดกับ อ.ไกรวัลย์ นอกจากผู้เขียนจะได้เรียนรู้การเขียน และเรียบเรียงข่าวแล้ว สิ่งหนึ่งที่ตกทอดมาจากนักข่าวยุคหลังสงครามโลกก็คือ “นักข่าวจะต้องทำตัวเป็นกระดาษซับน้ำหมึก คือ จะต้องดูดซับเอาข้อมูลต่างๆ มาให้ได้มากที่สุด และต้องเป็นผ้าขาวบางเนื้อดี เพื่อกรองคำพูดห รือข้อมูลที่ไม่จริงออกไปจะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของคนปล่อยข่าว หรือถูกฟ้องร้องภายหลัง”

นี่..เป็นบันทึกประวัติชีวิตส่วนหนึ่งของ ไกรวัลย์ ชูจิตต์ ได้จากโลกนี้ไปเมื่อเวลาตีหนึ่ง 11 กันยายน 2558 ที่ห้องI CU โรงพยาบาลปัญญา ในขณะที่ผู้ร่วมงานก่อตั้งหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ในชื่อแนวหน้าแห่งยุค “เดลินิวส์” ยุคสี่พระยา ซึ่งถือฤกษ์ “ขุนแผนตีดาบฟ้าฟื้น” แบ่งหน้าที่กันโดยมี สนิท เอกชัย (เรือใบ) เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ เชลง กัทลีรดะพันธ์ เป็นบรรณาธิการข่าวในประเทศ อารีย์ อิ่มสมบัติ เป็นบรรณาธิการฝ่ายพิสูจน์อักษร สุเทพ เหมือนประสิทธิ์เวช เป็นบรรณาธิการในประเทศ ไกรวัลย์ ชูจิตต์ เป็นบรรณาธิการข่าวอาชญากรรม บัดนี้ ทุกคนต่างพากันจากโลกนี้ไปสู่สุคติ ตามวัย ตามสังขารเป็นสัจจธรรมแห่งชีวิต แต่ต่างก็ทิ้งผลงานการต่อสู้ การนำเสนอข่าวเพื่อประชาชนเอาไว้มากต่อมาก และมีหัวหน้าข่าวอีกหลายคนในยุคก่อตั้ง ที่เรียกกันว่า “เดลินิวส์ยุคสี่พระยา” ก็พากันจากไป ล้วนเป็นอนิจจังโดยแท้

สำหรับ ไกรวัลย์ ชูจิตต์ (ในอดีต) ที่เวลาลงมือจับข่าวไหนแล้วกัดไม่มีปล่อย หรือสั่งงานข่าวแล้ว จะเข้ามาติดตามผลงานจนจบทุกข่าว ประวัติผลงานข่าว ของไกรวัลย์ ยังพอหาอ่านได้จากหนังสือพ็อกเกตบุ๊ก ชื่อ “คนข่าวเล่าตำนาน” ที่ สุวัฒน์ กิขุนทด สัมภาษณ์ และเรียบเรียงพิมพ์ออกมาวางแผงขายในปี 2548 และมอบเงินรายได้ส่วนใหญ่ให้ ไกรวัลย์...

ข้อมูลข่าว จากสุวัฒน์ กิขุนทด - สุรัตน์ บัณฑิตย์ (ภูมิภาค) เรียบเรียง





กำลังโหลดความคิดเห็น