ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผอ.สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เผยสาเหตุทะเลบางแสนกลายเป็นสีเขียว พร้อมส่งกลิ่นเหม็นเกิดจากแพลงก์ตอน “นอคติลูกา” เริ่มตาย และมีการย่อยสลายเกิดขึ้นในน้ำทะเล ส่วนสาเหตุที่สัตว์น้ำตายเพราะการขาดอากาศหายใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพน้ำทะเลบริเวณชายหาดบางแสน หลังจากเกิดปรากฏการณ์ แพลงก์ตอนบลูมอย่างรุนแรง เมื่อวันที่ 2-3 ที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุด วันนี้ (4 ก.ย.) สภาพน้ำทะเลบางแสนเริ่มดีขึ้น แต่ยังมองเห็นเป็นสีเขียวชัดเจน คาดว่าไม่นานจะเข้าสู่สภาวะปกติ
ดร.เสาวภา สวัสดิ์พีระ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลมหาวิทยาลัยบูรพา เผยว่า จากปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีเขียวบริเวณหาดบางแสน และมีปลาเล็กปลาน้อย รวมถึงสัตว์ทะเลประเภทแมงกะพรุนตาย เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา
เทศบาลเมืองแสนสุข ได้แจ้ง และเก็บตัวอย่างน้ำทะเลบริเวณชายหาดบางแสน แหลมแท่น หน้าโรงแรมเอส 2 บางแสน มาทางให้สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ทำการตรวจวิเคราะห์
ทั้งนี้ พบว่าสาเหตุที่น้ำทะเลเป็นสีเขียวเกิดจากการบลูมของแพลงก์ตอนกลุ่มไดโนแฟลกเจลเลตชนิด Noctilucascintillans ที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่า “นอคติลูกา” ซึ่งมีความหนาแน่นเท่ากับ 8.53x105 เซลล์ต่อลิตร และเป็นแพลงก์ตอนชนิดเดียวกับที่เคยเกิดปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 5-17 กรกฎาคม 2558 และเกิดขึ้นอีกหลายครั้งหลังจากนั้นในระดับความรุนแรงที่ต่างๆ กัน และในครั้งนี้ก็เช่นกันมีสัตว์น้ำตายค่อนข้างมาก
สาเหตุการเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเป็นสีเขียวในครั้งนี้เกิดจากสาเหตุเดิมเหมือนกับที่เคยเกิดมาหลายๆ ครั้งแล้ว คือ เกิดจากการเจริญเติบโต และแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว (Bloom) ของแพลงก์ตอน กลุ่มไดโนแเฟลกเจลเลต (dinoflagellate) ที่มีชื่อว่า “นอคติลูกา” (Noctiluca scintillans) จนกลายเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกกันว่า “ขี้ปลาวาฬ” หรือ “น้ำทะเลเปลี่ยนสี” หรือ “red tide” ตามแต่จะเรียกกัน
สาเหตุน่าจะมาจากก่อนเกิดเหตุการณ์ทุกครั้งมักจะมีฝนตกทำให้มีการชะล้างเอาธาตุอาหารไหลลงสู่ทะเลในปริมาณที่ค่อนข้างมาก ประกอบกับมีแดดจัดในวันถัดไป ทำให้ปัจจัยในการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนครบกระบวนการจึงเกิดการเจริญเติบโต และแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วของแพลงก์ตอน ทำให้มองเห็นน้ำทะเลมีสีเขียวเข้ม และมีเซลล์นอคติลูกาแขวนลอยอยู่ในน้ำหนาแน่น
จากผลการตรวจวัดสารอาหารในน้ำทะเลบริเวณแหลมแท่น หน้าโรงแรม เอส 2 บางแสน เมื่อวันที่ 2 และ 3 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา พบว่า สารอาหารแอมโมเนีย และฟอสเฟตมีค่าสูงกว่าช่วงปกติ ประกอบกับมีแสงแดดจัดจึงทำให้แพลงก์ตอนมีการสังเคราะห์แสงได้ดี และเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลงเป็นสาเหตุทำให้สัตว์น้ำตาย
ส่วนสาเหตุที่น้ำทะเลมีกลิ่นเหม็น เนื่องจาก 1.แพลงก์ตอนกลุ่มไดโนแฟลกเจลเลต ที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่า นอคติลูกา เริ่มตาย และมีการย่อยสลายเกิดขึ้นในน้ำทะเลจึงทำให้เกิดการเน่าเหม็น
สำหรับสาเหตุที่สัตว์น้ำตายเพราะการขาดอากาศหายใจ เพราะในช่วงกลางคืนไม่มีการสังเคราะห์แสงเกิดขึ้น และแพลงก์ตอนพืชแย่งออกซิเจนในน้ำใช้จนน้ำทะเลเกิดภาวะขาดออกซิเจนละลาย สัตว์น้ำโดยเฉพาะสัตว์หน้าดินขาดอากาศหายใจจึงตาย และหลังจากนั้นซากพืช ซากสัตว์ที่ตายมีการย่อยสลายจึงส่งกลิ่น เมื่อมีคลื่นลมพัดเข้าหาฝั่งจึงทำให้สัตว์น้ำทะเลเหล่านั้นถูกซัดเข้าฝั่ง
จึงขอเตือนประชาชนห้ามนำปลาที่เก็บไปทำรับประทาน เพราะซากปลาเหล่านี้มีเชื้อแบคทีเรียที่เสี่ยงต่ออาหารเป็นพิษมากอยู่แล้ว และอีกไม่นานเหตุการณ์ดังกล่าวก็จะกลับสู่ภาวะปกติ