ศูนย์ข่าวศรีราชา-เกิด “แพลงก์ตอนบูม” ทะเลบางแสน ทำให้น้ำทะเลมีสีเขียวส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง และมีปลาขนาดเล็กหนีตายเกยหาดจำนวนมาก โดยมีชาวบ้านแห่เก็บซากปลานำไปปรุงเป็นอาหาร ล่าสุด เทศบาลฯ ประกาศห้ามเล่นน้ำในช่วงนี้
เมื่อช่วงสาย วันนี้ (6 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณทะเลบางแสน อ.เมือง จ.ชลบุรี ได้เกิดปรากฏการณ์ “ขี้ปลาวาฬ” หรือ แพลงก์ตอนบูม ทำให้น้ำทะเลมีสีเขียวคล้ำ ส่งเหม็นคละคลุ้งไปทั่ว นอกจากนั้น ยังมีปลาขนาดเล็ก และสัตว์น้ำจำนวนมากตายเกยตื้น เนื่องจากปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้น้ำทะเลขาดออกซิเจน
นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข กล่าวว่า ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เคยเกิดขึ้นนั้นเกิดเกือบทุกๆ ปีที่ชายหาดบางแสน ทำให้ออกซิเจนในน้ำน้อยลง ส่งผลให้สัตว์ทะเลชายฝั่งขาดออกซิเจน และตายเกยตื้นจำนวนมาก ประกอบกับน่าจะมีการทิ้งปลาขนาดเล็กที่เรือประมงนอกชายฝั่งได้ทิ้งลงทะเล จึงทำให้มีซากปลาตายบริเวณชายฝั่งจำนวนมากเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เทศบาลเมืองแสนสุข กำลังระดมเจ้าหน้าที่ช่วยกันเก็บกวาดซากปลา และขยะอยู่ในขณะนี้ และได้นำซากสัตว์น้ำ และตัวอย่างน้ำทะเลส่งต่อให้คณะวิทยาศาสตร์ ม.บูรพา เพื่อหาสาเหตุที่แน่นอนอีกครั้ง
นายณรงค์ชัย กล่าวต่อไปว่า ช่วงนี้น้ำทะเลจะมีสีเขียวข้น และมีกลิ่นคาวมาก ส่งกลิ่นเหม็น จากปรากฏการณ์นี้ไม่แนะนำให้ลงเล่นน้ำเพราะอาจเกิดอาการแพ้ได้ โดยทางเทศบาลฯ จะทดลองทิ้ง EM Ball เพื่อปรับสภาพน้ำ คาดว่าปรากฏการณ์นี้จะทุเลาขึ้นในอีก 3-4 วันข้างหน้า
ด้าน ดร.เสาวภา สวัสดิ์พีระ ผอ.สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.บูรพา เผยว่า ปรากฏการณ์ธรรมชาติน้ำทะเลเปลี่ยนสีในครั้งนี้ถือว่ารุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านๆ มา โชคดีที่เป็นแพลงก์ตอนชนิดเรืองแสงสีเขียว อาจจะเป็นอันตรายน้อยกว่า 2 ชนิดที่เหลือ แต่ก็เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำในทะเลเช่นกัน เพราะมีการขยายตัวได้เร็วกว่าชนิดอื่น โดยเฉพาะเมื่อโดนแสงอาทิตย์ หากหมดแสงเมื่อไรก็จะแย่งออกซิเจนในน้ำ จนทำให้สัตว์เล็กหน้าดินตายเพราะขาดอากาศหายใจ เหมือนกับปลาที่ชาวบ้าน และนักท่องเที่ยวจับไปทำอาหารกินนั่นเอง
“แต่ขอเตือนชาวบ้านที่จะนำปลาไปทำปลาหมัก หรือเป็นปลาร้านั้นควรงด เนื่องจากมีแบคทีเรียบางชนิดในปลาทะเล โดยความร้อนไม่สามารถทำให้ตายได้ในทันที เมื่อนำมารับประทานอาจทำให้เกิดท้องร่วงได้ ดังนั้น หากจะนำไปทานควรจะใช้ปลาที่เพิ่งตายแล้วนำไปทำให้สุกเท่านั้น” ดร.เสาวภา กล่าว