xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลสรุปปลาตาย น้ำทะเลเขียวเกิดจากปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล สรุปผลการตรวจวิจัยน้ำทะเลบริเวณหาดบางแสนซึ่งมีสีเขียว และปลาตายจำนวนมากเกิดจากปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี พร้อมเผยคุณภาพน้ำทะเลส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

วันนี้ (7 ก.ค.) ดร.เสาวภา สวัสดิ์พีระ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล เปิดเผยว่า จากปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีบริเวณหาดวอนนภา-บางแสน โดยสถาบันฯ ได้รับแจ้งจากเทศบาลเมืองแสนสุขว่า เกิดเหตุปลาตายบริเวณหาดวอนนภา-หาดบางแสน ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา จึงได้แจ้งให้ นายอาวุธ หมั่นหาผล นักวิทยาศาสตร์ พร้อมทีมงานวิจัยสิ่งแวดล้อมทางทะเล เจ้าหน้าที่งานวิจัยสิ่งแวดล้อมทางทะเล สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ซึ่งเป็นงานที่มีหน้าที่ในการตรวจเช็คคุณภาพน้ำทะเลบริเวณหาดบางแสนและพื้นที่ใกล้เคียง ลงพื้นที่เพื่อทำการสำรวจ และเก็บตัวอย่าง พร้อมทั้งตรวจวัดคุณภาพน้ำทะเลในบริเวณที่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของเทศบาลเมืองแสนสุข คือ บริเวณสะพานปลาหาดวอนนภา วงเวียนบางแสน และหน้าโรงแรมเฮอริเทจ

โดยทีมงานนักวิจัยของสถาบันฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำทะเลโดยการลงเก็บตัวอย่างน้ำในครั้งนี้ ซึ่งผลการสำรวจในเบื้องตนพบว่า บริเวณสะพานปลาหาดวอนนภา น้ำทะเลมีสีตะกอนดิน มีกลิ่นเหม็นเน่า พบซากสัตว์น้ำถูกคลื่นซัดเกยบริเวณชายหาด แบบกระจัดกระจาย โดยซากปลาที่พบส่วนใหญ่เป็นปลาหน้าดิน เช่น ปลาไหลทะเล ปลาอุบ ปลาบู่ และปลาวัว

ส่วนที่บริเวณวงเวียนหาดบางแสน ลักษณะน้ำทะเลมีตะกอนดิน จากการกวนของคลื่นลม พบซากสัตว์น้ำถูกคลื่นซัดขึ้นเกยบริเวณชายหาดแบบกระจัดกระจาย โดยซากปลาที่พบส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก เช่น ปลาลิ้นหมา ปลาไหลทะเล ปลาอุบ ปลาวัว และปลาบู่ทะเล บริเวณหน้าโรงแรมเฮอริเทจ น้ำทะเลมีสีเขียว ซึ่งเป็นสีของแพลงก์ตอนพืช คือ นอคติลูกา (Noctiluca scintillans) ที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีความหนาแน่นสูงแขวนลอยอยู่ในมวลน้ำจนทำให้มองเห็นน้ำทะเลมีสีเขียว พบซากปลาลอยบนน้ำ และถูกคลื่นซัดเกยเต็มบริเวณชายหาด โดยซากปลาที่พบเป็นปลาขนาดเล็ก ได้แก่ ปลาแป้น ปลากระตัก

ซึ่งจากผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำ พบว่า คุณภาพน้ำทะเลส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน คุณภาพน้ำทะเลเพื่อการใช้ประโยชน์ด้านนันทนาการ ยกเว้น ค่าฟอสเฟต บริเวณหน้าโรงแรมเฮอริเทจ มีความเข้มข้นสูงกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบค่าความเข้มข้นของฟอสเฟต และไนเตรทกับข้อมูลที่ตรวจพบเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2558 ในบริเวณเดียวกันนี้ พบว่า ทั้ง 2 พารามิเตอร์มีค่าที่สูงขึ้นอยู่ในช่วง 2-8 เท่า สำหรับปริมาณแพลงก์ตอนพืช ชนิด นอคติลูกา (Noctiluca scintillans) นอคติลูกา (Noctiluca scintillans) ที่ตรวจพบบริเวณทะเลด้านหน้าโรงแรมเฮอริเทจ พบว่า มีความหนาแน่นอยู่ที่ 99,333 เซลล์ต่อลิตร ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีในครั้งนี้

โดยแพลงก์ตอนพืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มไดโนแฟลกเจลเลต ลักษณะทั่วไป เซลล์มีขนาดใหญ่ คล้ายวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 150 ไมโครเมตร-1 มิลลิเมตร มีหนวด 2 เส้น และมีแส้ (tentacle) 1 เส้น ภายในเซลล์มีสาหร่ายสีเขียว Pedinomonas nocilucae อาศัยอยู่ร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มองเห็นน้ำทะเลเป็นสีเขียว

ดร.เสาวภา กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลการตรวจวิเคราะห์น้ำทะเลจากห้องปฏิบัติการวิจัย พบว่า การตายของปลาบริเวณหาดวอนนภา-หาดบางแสน ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มีสาเหตุจากปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี (red tide) เนื่องจากการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว (bloom) ของแพลงก์ตอนพืช ชนิดนอคติลูกา ที่อาจจะทำให้น้ำทะเลขาดออกซิเจนละลายน้ำในช่วงกลางคืนที่ไม่มีการสังเคราะห์แสง ทำให้สัตว์น้ำโดยเฉพาะสัตว์หน้าดินขาดออกซิเจน ส่งผลให้สัตว์น้ำตาย ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะเกิดอยู่ประมาณ 7-10 วัน ก่อนจะเข้าสู่ภาวะปกติ



กำลังโหลดความคิดเห็น