xs
xsm
sm
md
lg

“ระยอง” จัดเสวนาแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หน่วยงานรัฐและเอกชน จ.ระยอง จัดเสวนา”แผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ”
ระยอง - หน่วยงานรัฐ และเอกชนจัดเสวนาแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำ

วันนี้ (28 ก.ค.) ที่โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ ต.เนินพระ อ.เมือง จ.ระยอง นายภิญโญ ประกอบผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานเปิดเวทีเสวนาแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยมีวิทยากรที่ทรงคุณวุฒิมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประกอบด้วย นายเอกวิทย์ จรปะสิทธิ อนุกรรมการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรน้ำ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายนิวัฒน์ชัย คัมภีร์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายมหิปพงษ์ วรกุล นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และนายจิรายุ ชยางศุ ผู้อำนวยการกองฝ่ายแผนงานโครงการ กรมทรัพยากรน้ำ

การเสวนาดังกล่าวเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์สำคัญ มีตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเสวนา รวมทั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำหลัก และลุ่มน้ำสาขา ทั้งลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำปราจีน และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ตลอดจนเครือข่ายภาคประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ลุ่มน้ำ และประชาชนทั่วไป ร่วมรับฟังแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศในครั้งนี้ กว่า 400 คน

สำหรับการจัดโครงการสัมมนาแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 5 โดยกรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีทั้งการเสวนาของตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การซักถามประเด็นต่างๆ จากผู้เข้าร่วมการเสวนา รวมทั้งการจัดนิทรรศการแสดงยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1.น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 2.น้ำเพื่อการเกษตร 3.น้ำเพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ 4.น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศและการควบคุมน้ำเสีย 5.น้ำเพื่อการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย 6.การบริหารจัดการ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในแผนยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ

ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 58 ซึ่งได้กำหนดวิสัยทัศน์ในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไว้ว่า “ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน”

อย่างไรก็ตาม ในเวทีเสวนาดังกล่าวมีผู้แสดงความกังวลถึงวิกฤตการขาดแคลนน้ำในอนาคต โดยได้แสดงความคิดเห็น และเสนอให้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำภายในประเทศเพิ่ม และขุดแหล่งน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น
มีหลายหน่วยงานร่วม เสวนาครั้งนี้ จำนวนมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น