xs
xsm
sm
md
lg

พบหลุมยุบริมอ่างเก็บน้ำอุบลฯ ชาวบ้านเชื่อเป็นถ้ำพญานาค แต่นักธรณีชี้น้ำใต้ดินเสียสมดุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี-ชาวบ้านแตกตื่นดูหลุมยุบริมอ่างเก็บน้ำใน อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี หมอผีโชว์มุดลงรู ก่อนรีบกลับขึ้นมาบอกเป็นถ้ำพญานาค ต้องการน้ำไปใช้ เมื่อพอแล้วจะหยุดเอง ขณะที่นักธรณีวิทยาชี้น้ำใต้ดินเสียสมดุลเพราะสูบน้ำบาดาลใช้มานาน แนะใช้กระสอบดินกระสอบทรายปิดรูลดแรงดันน้ำ ก่อนทำคอนกรีตปิดตาย

วันนี้ (14 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวจังหวัดอุบลราชธานีได้รับแจ้งที่ริมอ่างเก็บน้ำด้านทิศตะวันตกบ้านน้ำอ้อม หมู่ 1 ต.ม่วง อ.ม่วงสามสิบ เกิดมีดินทรุดจนเกิดเป็นโพรงขนาดใหญ่ และน้ำในอ่างเก็บน้ำเกือบ 1 แสนลูกบาศก์เมตร ไหลลงไปในหลุมกว่าครึ่งอ่างและยังไหลไม่หยุด จึงไปตรวจสอบ

พบเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดความกว้างประมาณ 100 เมตร ยาวประมาณ 120 เมตร โดยตรงจุดเกิดเหตุมีชาวบ้านละแวกใกล้เคียงแห่กันมาดู และมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งจับกลุ่มดูนายประดิษฐ์ แพงศรี ชาวบ้านจากตำบลหนองฮาง อ.ม่วงสามสิบ ซึ่งอ้างตัวเป็นผู้มีวิชาอาคมทางไสยศาสตร์ ทำพิธีอยู่บริเวณปากหลุมดินที่ทรุด

ต่อมานายประดิษฐ์ได้ถือธูปมุดลงไปในโพรงได้เพียงครู่เดียวก็รีบกลับขึ้นมาแจ้งชาวบ้านว่าเป็นถ้ำพญานาค ซึ่งต้องการน้ำไปใช้ หลังได้น้ำเพียงพอแล้วก็จะหยุดเอาน้ำจากอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ พร้อมกับตีเลขให้หวยแก่ชาวบ้านที่มามุงดูด้วย

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ อบต.ม่วงต้องนำแผงเหล็ก พร้อมเชือกและป้ายเขียนข้อความห้ามเข้าใกล้ปากหลุม เพราะจะทำให้ดินทรุดตัวและเป็นอันตรายต่อผู้มาอยู่ใกล้ตรงจุดที่เกิดดินยุบมาติดเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้ใครฝ่าฝืนลงไปในหลุมอีก

สำหรับเหตุการณ์ดินทรุดตัวเกิดเมื่อสองวันก่อน และ อบต.ม่วงได้แจ้งให้นายทรงกลด ประเสริฐทรง เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมนักธรณีวิทยาเขต 2 จ.ขอนแก่น เข้ามาตรวจสอบ พบเกิดจากกลุ่มรอยแตกของหิน ซึ่งด้านล่างประกอบด้วยชั้นเกลือหินที่ละลายน้ำได้ง่าย เมื่อชั้นเกลือละลายน้ำ ประกอบกับมีการสูบน้ำบาดาลขึ้นไปใช้เป็นเวลานาน ทำให้น้ำใต้ดินเกิดการเสียสมดุล

เมื่อน้ำด้านบนที่อยู่ในอ่างเก็บน้ำเกิดการกดทับ จึงเกิดรอยแยกและกลายเป็นช่องโพรงตามแรงดันน้ำ ไม่ใช่เป็นปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติตามที่ชาวบ้านเข้าใจ

สำหรับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ได้ให้ อบต.นำกระสอบทรายหรือดินมาวางปิดกั้นรอบปากโพรงเพื่อลดแรงดันของน้ำและปิดไม่ให้น้ำไหลลงไปในโพรง ซึ่งจะทำให้เกิดรอยแยกกว้างเพิ่มขึ้น ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวต้องศึกษาลักษณะของโพรง ก่อนทำกำแพงคอนกรีตปิดการไหลออกของน้ำอย่างถาวรต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น