นักวิจัย สกว.ระบุนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่คาดอยู่แล้วจะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ แต่เนปาลขนาดทรัพยากรป้องกัน และโครงสร้างอาคารไม่ออกแบบให้รองรับแรงสั่นสะเทือน จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากนานาชาติ
ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ นักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. จากมหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายปรากฏการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลว่าเกิดขึ้นจากแผ่นพื้นทวีปอินเดียเคลื่อนตัวไปทางเหนือเข้าหาแผ่นเปลือกโลกใต้ทิเบตด้วยความเร็วประมาณ 4-5 ซม. ต่อปี โดยพลังงานที่ถูกกักเก็บไว้เป็นเวลานานนั้นได้ถูกปลดปล่อยออกมาเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ซึ่งแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 25 เม.ษ.ที่ผ่านมานั้นมีความตื้นเพียงแค่ 15 กม.จากผิวดิน ซึ่งถือว่าตื้นมากและอาจสร้างความเสียหายและทำลายอาคารบ้านเรือนบริเวณเขตแผ่นดินไหวได้
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่นักวิทยาศาสตร์ได้คาดไว้แล้วว่าแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เช่นนี้จะต้องเกิดขึ้น ดังนั้น แผ่นดินไหวที่เนปาลจึงไม่ได้เป็นแผ่นดินไหวที่เกินความคาดหมายแต่อย่างใด ซึ่ง ศ.พอล ทัปปองนิเยร์ (Paul Tapponnier) นักธรณีวิทยาจากฝรั่งเศส ได้ลงพื้นที่ขุดหารอยเลื่อนก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เนปาลประมาณ 1 เดือน แต่ยังไม่ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ โดยเชื่อว่าแผ่นดินไหวเมื่อปี 1934 นั้นทำให้เกิดความสามารถในการส่งแรงผ่านมายังด้านตะวันตก และทำให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้น
"นักธรณีวิทยาท่านนี้พบว่าเคยเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันแล้วเมื่อปี ค.ศ. 1255 และทำให้เกิดแผ่นดินไหวเมื่อปี ค.ศ. 1344 ซึ่งเพิ่งขุดพบหลักฐาน โดยจากแผ่นดินไหวเมื่อปี ค.ศ. 1344 ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอีกตัวทางด้านตะวันตกขนาดมากกว่า 8.0 เมื่อปี 1505 ดังนั้น ตอนนี้จึงคาดกันว่าจะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่อีกในอนาคตไปทางทิศตะวันตกในช่วงจากนี้ไปเนื่องจากความสามารถในการส่งแรงผ่าน"
ดร.ธีรพันธ์ระบุ
ดร.ธีรพันธ์กล่าวเพิ่มเติมว่า อาคารในกรุงกาฐมาณฑุนั้นส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบให้มีความสามารถในการต้านทานแผ่นดินไหวเนื่องมาจากหลายสาเหตุ เช่น ความไม่เพียงพอของจำนวนวิศวกร วัสดุก่อสร้าง ความยากจน ดังนั้นความเสียหายจึงเชื่อว่าจะสูง และเชื่อว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเพราะโซนของแผ่นดินไหวขนาดเกือบ 8.0 แมกนิจูด จะมีขนาดกว้างประมาณ 200-300 กิโลเมตร
“ดังนั้น การช่วยเหลือหลายๆพื้นที่ในระยะเวลาอันสั้นจึงอาจจะเป็นเรื่องที่ลำบาก โดยขณะนี้ได้มีการประมาณถึงมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหวครั้งนี้อาจจะเทียบได้กับขนาดผลผลิตมวลรวมของเศรษฐกิจ (GDP) ของเนปาลนั้น ดังนั้น จึงเชื่อว่าเนปาลจำเป็นที่จะต้องการความช่วยเหลือจากนานาชาติจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ไปอีกซักระยะหนึ่งนับจากนี้ซึ่งเป็นกรณีเดียวกันกับแผ่นดินไหวที่ประเทศเฮติเมื่อปี ค.ศ. 2010” ดร.ธีรพันธ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ประเทศเนปาลมีบุคลากรที่ตระหนักถึงภัยแผ่นดินไหวและได้มีความพยายามในการเตรียมตัวป้องกันภัยธรรมชาติประเภทนี้มาในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา คือ National Society for Earthquake Technology-Nepal ที่ Sainbu และ GeoHazards International ที่เมนโล พาร์ค รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยแผ่นดินไหวขนาดใกล้เคียงกันกับเหตุการณ์เมื่อปี ค.ศ. 1934 ก็เป็นเหตุการณ์ที่ได้มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น ดังนั้นปัญหาของประเทศเนปาลจึงไม่เกี่ยวกับความไม่ใส่ใจ แต่เป็นเพราะการขาดแคลนทรัพยากรในการป้องกันภัยแผ่นดินไหว
*******************************