ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ท่าอากาศยานเชียงใหม่เผยผลดำเนินงานปี 2557 มีผู้โดยสารใช้บริการกว่า 6.6 ล้านคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าตัว เที่ยวบินขึ้นลงกว่า 5.2 หมื่นเที่ยว โกยรายได้กว่า 1,200 ล้านบาท ฟันกำไรกว่า 487 ล้านบาท เล็งแผนพัฒนาต่อเนื่อง ชูแนวคิด “ประตูสู่วัฒนธรรมล้านนา” ตั้งเป้าติดอันดับ 1 ใน 25 ท่าอากาศยานคุณภาพบริการดีที่สุดในเอเชียแปซิฟิก
นาวาอากาศเอก สมัย จันทร รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานท่าอากาศยานภูมิภาค) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวถึงท่าอากาศยานเชียงใหม่เนื่องในโอกาสที่จะครอบรอบ 27 ปี การดำเนินงานว่า ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เป็น 1 ใน 6 ท่าอากาศยานภูมิภาคของ ทอท.ที่มีอัตราการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปี 2254 เป็นต้นมา ที่มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปี ซึ่งทำให้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ต้องมีการพัฒนาด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ภายใต้คุณภาพการให้บริการในระดับสากล และมาตรฐานความปลอดภัยขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
ทั้งนี้จากปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น ท่าอากาศยานเชียงใหม่ แผนการพัฒนาเพื่อรองรับการขยายตัวของการเดินทาง รวมถึงเพิ่มคุณภาพในการให้บริการในอนาคต ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 มีโครงการสำคัญที่จะดำเนินการ ได้แก่ การขยายลานจอดอากาศยานขนาดใหญ่จำนวน 1 หลุมจอด หรือหลุมจอดอากาศยานขนาดเล็ก 3 หลุมจอด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ
รวมทั้งแผนระยะสั้นที่อยู่ระหว่างการออกแบบ แลคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2558 ประกอบด้วย การขยายห้องผู้โดยสารขาออกในประเทศ ประมาณ 400 ตารางเมตร และขยายห้องผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ ประมาณ 350 ตารางเมตร
ส่วนแผนระยะกลาง อยู่ระหว่างการพิจารณาขอจัดตั้งงบประมาณ และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2559 ประกอบด้วย การขยายห้องผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ ประมาณ 1,600 ตารางเมตร ,การปรับปรุง Bus Gate และสายพานลำเลียงกระเป๋า 1 สายพาน,การขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศประมาณ 20,000 ตารางเมตร พร้อมสายพายลำเลียงกระเป๋า 2-3 สายพาน และสะพานเทียบอากาศยาน 2 สะพาน ตลอดจนงานก่อสร้างพื้นที่ลานจอดรถยนต์ 320 คัน ที่อยู่ระหว่างการออกแบบ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2558 ซึ่งหลังจาก ดำเนินการแล้วเสร็จ เชื่อว่าจะทำให้ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น
ด้านนาวาอากาศเอกวิสูธ จันทนา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ เปิดเผยผลการดำเนินงานของท่าอากาศยานเชียงใหม่ ในปีงบประมาณ 2557 ว่า มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1,228.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2556 โดยมีกำไรสุทธิ 487.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 81 โดยเป็นรายได้จากการบินร้อยละ 76 และอีกร้อยละ 24 เป็นรายได้จากการประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์
ทั้งนี้การให้บริการขนส่งทางอากาศในปี 2557 มีอากาศยานพาณิชย์ ขึ้น-ลง 52,642 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 21 โดยเที่ยวบินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 44 มีจำนวนผู้โดยสาร 6.63 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 21 เฉพาะผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 59 มีปริมาณการขนถ่ายสินค้า 17,940 ตัน ลดลงจากปี 2556 ร้อยละ 1
ปัจจุบันมีสายการบินที่บินประจำภายในประเทศจำนวน 7 สายการบิน ทำการบินใน 14 เส้นทาง และสายการบินระหว่างประเทศ จำนวน 20 สายการบิน ทำการบินใน 18 เส้นทาง มีเที่ยวบินเฉลี่ย 191 เที่ยวบินต่อวัน
ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารดังกล่าว นอกจากจะเป็นผลสืบเนื่องจากการที่มีสายการบินต้นทุนต่ำทยอยเปิดตัว เข้ามาในธุรกิจการบิน ทำให้ประชาชนหันมาเลือกการเดินทางโดยเครื่องบินมากขึ้นแล้ว ยังมีการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนเพิ่มขึ้นเกือบสิบเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2555
ขณะเดียวกันผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระบุว่า ในโอกาสครบรอบ 27 ปี ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ นับตั้งแต่ได้รับโอนกิจการจากกรมการบินพาณิชย์ มาอยู่ในความดูแลของ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 มี.ค.31 นอกจากการดำเนินงานที่เป็นไปมาตรฐานความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยตามข้อกำหนดของรัฐและข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) แล้ว ยังมุ่งมั่นที่พัฒนาคุณภาพการให้บริการในทุกๆ ด้านภายใต้แนวคิดการเป็นประตูสู่วัฒนธรรมล้านนา(Gateway to Lanna Heritage) อีกด้วย โดยมีเป้าหมายเป็น 1 ใน 25 ท่าอากาศยานที่มีคุณภาพการให้บริการที่ดีที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก
สำหรับการเปิดให้บริการท่าอากาศยานเชียงใหม่ตลอด 24 ชั่วโมงนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ในครบถ้วน ก่อนที่จะมีการดำเนินการเพื่อขออนุญาตไปที่กรมการบินพาณิชย์ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าจะเป็นเมื่อใด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
ส่วนแผนการเกี่ยวกับการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งใหม่เพื่อรองรับการขยายตัวนั้น เป็นเรื่องการตัดสินและการกำหนดแนวทางจากระดับนโยบาย ซึ่งในฐานะผู้ปฏิบัติยังไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ อย่างไรก็ตามในส่วนของท่าอากาศยานเชียงใหม่ ด้วยศักยภาพที่มีอยู่ และจากแผนการพัฒนาต่างๆ รวมทั้งการบริหารจัดการ เชื่อมั่นว่ายังสามารถรองรับการขยายตัวและใช้งานได้อีกหลายสิบปี