กรมท่าอากาศยานศึกษาแนวทางพัฒนาสนามบินภูมิภาค มุ่งสร้างรายได้เชิงพาณิชย์เพิ่ม เปิดสัมมนาระดมไอเดียทุกภาคส่วน เปิดกว้างร่วมทุนเอกชน PPP ฟุ้งสนามบินแต่ละแห่งมีที่ดินมาก สามารถพัฒนาสร้างรายได้ เชื่อจูงใจนักลงทุน ย้ำยังไม่ได้ตกลง ทอท.ให้บริหารสนามบินใด ระบุต้องเปิดกว้าง เลือกผู้ที่เสนอดีที่สุด ใช้ประโยชน์เต็มศักยภาพที่มี โดยจะสรุปกรอบร่วมลงทุนและรูปแบบใน 2 เดือน
นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการและรับฟังความคิดเห็นตามโครงการศึกษาและจัดทำแนวทางการบริหารกลุ่มท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน จากผู้ประกอบการท่าอากาศยาน กลุ่มผู้สนใจร่วมประกอบการท่าอากาศยาน ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยจะนำข้อมูล ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ซึ่งเป็นความต้องการของผู้ลงทุนและผู้เกี่ยวข้อง ไปจัดทำแผนการบริหารสนามบินของกรมฯ เป้าหมายคือ หาแนวทางที่จะใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่มี และโครงสร้างพื้นฐานที่ได้ลงทุนไปแล้ว โดยสามารถสร้างรายได้ในเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งเป็นแนวคิดการบริหารแบบเอกชน ซึ่งจุดแข็งของกรมฯ คือ มีสนามบินกระจายอยู่ทั่วประเทศ และมีที่ดินสนามบินเป็นจำนวนมาก
โดยหลังจากนี้จะจัดสัมมนาระดมความเห็นที่ต่างจังหวัดอีก 4 ครั้ง เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และกำหนดรูปแบบที่เหมาะสม คาดว่าจะได้ข้อสรุปใน 2 เดือน และนำเสนอรูปแบบขออนุมัติในเชิงนโยบายได้
โดยกรอบการศึกษาประกอบด้วย 1. รูปแบบการบริหารท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน ที่มีความเหมาะสมต่อการให้ภาคเอกชนร่วมบริหาร (Public Private Partnership : PPP) 2. เพื่อจัดทำแนวทางในการพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน ให้สามารถรองรับความต้องการในการขนส่งทางอากาศได้อย่างต่อเนื่อง และตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ
ซึ่งกรมฯ มีสนามบินภูมิภาค 28 แห่ง โดยภาคเหนือมี 10 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 แห่ง ภาคกลางและใต้ 9 แห่ง อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 1 แห่ง (สนามบินเบตง) โดยภาพรวมกรมฯ บริหารสนามบินมีกำไร แต่หากแยกรายสนามบินจะยังขาดทุนในส่วนของสนามบินที่ไม่มีเที่ยวบินประจำ และมีเที่ยวบินน้อย เช่น โคราช, เพชรบูรณ์, หัวหิน, แพร่, ระยอง, ชุมพร, บุรีรัมย์ เป็นต้น ซึ่งในการให้เอกชนร่วมบริหารนั้น ในแต่ละสนามบินจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป ดังนั้นจึงต้องเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบการบริหารแบบกลุ่มใหญ่ 5-6 แห่ง หรือกลุ่มเล็ก 2-3 แห่ง หรือแยกเป็นรายสนามบิน ซึ่งจะมีแนวทางการพัฒนาที่ดินรอบสนามบินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเข้าร่วมพัฒนาด้วย โดยกรมฯ จะเตรียมความพร้อมในเรื่องข้อกฎหมายให้สอดคล้องกับ PPP หรือกรณีเป็นพื้นที่ป่าจะต้องจัดการเรื่องกรรมสิทธิ์ให้เรียบร้อยก่อนนำมาพัฒนา
สนามบินของกรมฯ หลายแห่งมีพื้นที่ค่อนข้างมาก รวมๆ กว่า 50,000 ไร่ โดยหลักการต้องบริหารจัดการพื้นที่ใน Airside (ภายในเขตสนามบิน เช่น รันเวย์ แท็กซี่เวย์ ลานจอดอากาศยาน) พื้นที่ Landside (ภายนอกสนามบิน เช่น ลานจอดรถ ระบบขนส่งมวลชน) ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพียงพอก่อน ส่วนที่เหลือสามารถนำมาพัฒนาสร้างรายได้เพิ่มได้ เช่น เพชรบูรณ์มีพื้นที่ 5,050 ไร่, นครพนมมี 7,956 ไร่, อุดรธานีมีกว่า 4,505 ไร่, นครราชสีมามีกว่า 4,625 ไร่, สกลนคร 2,732 ไร่, สุราษฎร์ธานี 6,015 ไร่, กระบี่ 2,715 ไร่, ชุมพร 2,324 ไร่, ระนอง 2,144 ไร่ เป็นต้น
สำหรับรูปแบบการบริหารสนามบินนั้น เป็นไปได้ทั้งการร่วมทุนแบบ PPP หรือรับจ้างบริหารทั้งหมด หรือจะบริหารเฉพาะพื้นที่ Airside เฉพาะพื้นที่ Landside ขึ้นกับศักยภาพของแต่ละสนามบินซึ่งไม่เหมือนกัน
นายดรุณกล่าวว่า ปัจจุบันกรมฯ มีรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Non Aeronautical Revenue) ประมาณ 1,300 ล้านบาท ขณะที่สนามบินภูมิภาคยังช่วยสร้างรายได้ทางอ้อมให้ประเทศได้ถึง 7-8 หมื่นล้านบาท จากกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า สินค้าโอทอป รถขนส่ง ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้ทำแผนการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถรองรับและอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร โดยลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระยะที่ 1 (60-64) วงเงิน 23,000 ล้านบาท ระยะที่ 2 (65-69) วงเงิน 12,000 ล้านบาท เพิ่มขีดความสามารถเป็น 58 ล้านคน/ปี ได้ถึงปี 2578
สำหรับกรณีที่ผู้ร่วมสัมมนาภาคเอกชนกังวลกรณีที่มีข่าวว่ากรมฯ ได้หารือกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ในการบริหารสนามบินภูมิภาคแล้วนั้น นายดรุณกล่าวว่า ยังไม่มีการตกลงกับ ทอท.แต่อย่างใด ซึ่ง ทอท.เป็นรัฐวิสาหกิจ จะมีรูปแบบในการเข้าร่วมบริหารสนามบิน เช่น ตั้งบริษัทลูก เป็นต้น แต่ทั้งนี้ กรมฯ จะเปิดกว้างให้ทุกรายยื่นข้อเสนอและเลือกแนวทางที่ดีที่สุด มีประโยชน์สูงสุด ขณะที่เห็นว่า ภาคเอกชนมีศักยภาพในแง่การบริหารที่คล่องตัวมากกว่ารัฐวิสาหกิจ ดังนั้นทุกอย่างขึ้นกับการยื่นข้อเสนอที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้การพัฒนาสนามบินของกรมฯ เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีและปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค (Aviation Hub)