ศูนย์ข่าวเชียงใหม่- ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ กฟผ.จ่ายเงินชดเชยชาวบ้านแม่เมาะ 131 ราย เบ็ดเสร็จ 40 กว่าล้าน พร้อมดอกเบี้ย ค่าปล่อยซัลเฟอร์ฯ ทำสารพิษตกค้างในร่างกายชาวบ้าน หลังยื่นฟ้อง-สู้คดีนานนับสิบปี เครือข่ายผู้ป่วยฯ รับพอใจแม้ไม่คุ้ม แต่พิสูจน์ชัดโรงไฟฟ้ากระทบชุมชน-สิ่งแวดล้อม ด้านทนายชาวบ้านจี้ “บิ๊กตู่” ตั้งศาลสิ่งแวดล้อมใน รธน.ใหม่
วันนี้ (25 ก.พ. 58) ที่ศาลปกครองเชียงใหม่ มีการอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จังหวัดลำปาง กรณีละเมิดจากการปล่อยมลพิษจากฝุ่นละอองและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งชาวบ้านแม่เมาะที่ได้รับผลกระทบรวม 131 รายร่วมกันฟ้องตั้งแต่ปี 2546 และศาลชั้นต้นตัดสินให้ กฟผ.จ่ายคนละ 240,000 บาท ตั้งแต่ปี 2552 แต่ทาง กฟผ.ยื่นอุทธรณ์
ทั้งนี้ มีชาวบ้านอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ประมาณ 200 คน ที่เป็นสมาชิกเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะเดินทางมาร่วมรับฟังคำพิพากษา พร้อมทั้งนำรูปถ่ายของผู้ฟ้องคดีที่เสียชีวิตไปแล้วระหว่างต่อสู้คดีมาด้วย
ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์จากการประกอบอาชีพ และค่าทดแทนการเสื่อมสมรรถภาพ สุขภาพอนามัย และความสูญเสียทางด้านจิตใจ พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ชาวบ้านผู้ฟ้องคดีทั้ง 131 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เสียชีวิตไปแล้ว 15 ราย รายละตั้งแต่ประมาณ 10,000 บาท ไปจนถึงกว่า 246,900 บาท ภายใน 30 วัน รวมเป็นเงินประมาณ 24 ล้านบาท พร้อมเงินชดเชยเพิ่มเติมอีกประมาณ 21 ล้านบาท
นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ เปิดเผยว่า เบื้องต้นพอใจกับคำพิพากษาดังกล่าว แม้ว่าจำนวนเงินที่ชาวบ้านได้รับจะไม่มาก และไม่คุ้มค่ากับผลกระทบที่ได้รับ แต่ก็เป็นสิ่งยืนยันให้เห็นว่าโรงไฟฟ้าแม่เมาะสร้างความเสียหายและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมรอบโรงไฟฟ้าจริง
รวมทั้งหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มให้ชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ มีความกล้าที่จะลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิชุมชนของตัวเอง ขณะที่ในส่วนของเครือข่ายฯ จะมีการขับเคลื่อนเพื่อจัดตั้งกองทุนสำหรับช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบต่อไป
นายธีระ พลวงศ์ศรี อายุ 83 ปี ชาวบ้านแม่เมาะผู้ได้รับผลกระทบ ที่เป็นหนึ่งในผู้ฟ้องคดีนี้ เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาออกมาเช่นนี้ ทำให้ตนเองและนางปัน พลวงศ์ศรี อายุ 76 ปี ผู้เป็นภรรยาที่ร่วมฟ้องด้วยและเสียชีวิตไประหว่างการต่อสู้คดี ได้รับเงินชดเชยเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งเงินที่ได้ก็จะนำไปใช้ในการรักษาพยาบาลตัวเองต่อไปในช่วงชีวิตที่เหลือ หลังจากที่ต้องต่อสู้และรอคอยมานานหลายปี
ทางด้านนายธีรศักดิ์ ชึขุนทด ทนายความชาวบ้าน และนายกสมาคมนักกฎหมายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ได้ออกแถลงการณ์ ขอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมไว้ใน รธน.ฉบับใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการร่างในขณะนี้ด้วย