กาญจนบุรี - นอภ.เมืองกาญจนบุรี คาด จนท.สำนักทะเบียนกลางลงพื้นที่สอบสวนการกระทำผิด และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อขบวนการปลอมแปลงบัตรประชาชนชาวพม่ารายใหญ่ 16 รายเร็วๆ นี้ หากพบมี ขรก.คนใดเกี่ยวข้องก็จะต้องถูกสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย ด้าน พงส.สภ.กาญจน์ ชี้กรณีอำเภอเมืองร้องทุกข์กล่าวโทษข้าราชการสวมบัตร ปชช.ต่างด้าวต้องส่ง ป.ป.ท.สอบสวน คาดภายใน 1 เดือนเอกสารทั้งหมดส่งถึง
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีเมื่อวันที่ 7 ก.พ.58 ที่ผ่านมา นายศรัทธา คชพลายุกต์ นายอำเภอเมืองกาญจนบุรี พร้อมด้วย นายสรธร บ่อเกิด ปลัดอำเภอเมืองกาญจนบุรี หัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตร นำเอกสาร 5,000 หน้า เข้าพบ พ.ต.อ.นคร พักไพโรจน์ พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ สภ.เมืองกาญจนบุรี เพื่อแจ้งความดำเนินคดีขบวนการปลอมแปลงบัตรประชาชนชาวพม่ารายใหญ่รวม 16 ราย ประกอบด้วย
1.นางณัฐรินีย์ สบายยิ่งดลเดช ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) อำเภอไทรโยค จ.กาญจนบุรี
2.นางศุภิดา ลาบเหลือ ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) อำเภอเดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี
3.นางวีณา ธนรักษ์ ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) อำเภอพนมทวน จ.กาญจนบุรี
4.นายธนกร สว่างแก้ว ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) อำเภอพนมทวน จ.กาญจนบุรี
5.นางภัทรภร แสงจันทร์ เจ้าหน้าที่ปกครองชำนาญการ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี
6.นางแสงอรุณ จุมพล พนักงานราชการ อำเภอเมือง จ.กาญจนบุรี
7.นายพนมกร คล้ายเมือง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 7 ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
8.นายประสาน นิยมทรัพย์ สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี
9.นายมานพ ภาคภูมิ อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
10.น.ส.กาญจนา แม้นเดช
11.นายนิรุจน์ เสมอภาค
12.นายธีระพันธุ์ เสน่ห์ชอบ
13.นายชายแดน มีคุณ
14.น.ส.ปิยะวดี กลิ่นพะยอม
15.บุคคลที่มีชื่อเล่นว่า แอล ไม่ทราบชื่อและนามสกุล
และ 16.บุคคลต่างด้าว จำนวน 421 ราย
ล่าสุด เมื่อเวลา 11.30 น.วันนี้ (8 ก.พ.) นายศรัทธา คชพลายุกต์ นายอำเภอเมืองกาญจนบุรี กล่าวว่า หัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตร โดย นายสรธร บ่อเกิด ปลัดอำเภอเมืองกาญจนบุรี ได้ตรวจพบการกระทำผิดกฎหมายของข้าราชการที่มีการสวมบัตรประชาชนของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 พ.ย.2549 และครั้งสุดท้ายวันที่ 26 ส.ค.2556 รวมทั้งหมด 421 ราย
ส่วนการกระทำผิดจะมีส่วนเกี่ยวข้องต่อเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนกลางหรือไม่นั้นตนไม่สามารถตอบได้ แต่คาดว่าเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนกลางคงจะลงพื้นที่เพื่อสอบสวนหาข้อมูลข้อเท็จจริงว่าการกระทำดังกล่าวเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่ของสำนักทะเบียนกลางหรือไม่อย่างไร
หากตรวจสอบแล้วพบว่า ข้าราชการคนใดอยู่ในระดับตั้งแต่ ซี 8 ลงมา ก็จะเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ทำการสอบสวน โดยขั้นตอนการสอบสวนจะอยู่ในกรอบเวลาประมาณ 2 ปี และหากพบข้าราชการในระดับ ซี 9 ขึ้นไป ก็จะเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.เป็นผู้สอบสวน
ด้าน พ.ต.อ.นคร พักไพโรจน์ พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ สภ.เมืองกาญจนบุรี เปิดเผยว่า เนื่องจากผู้ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษส่วนใหญ่เป็นข้าราชการไม่เกิน ซี 8 ตำรวจเรามีหน้าที่เพียงรับเรื่องร้องทุกข์เอาไว้เท่านั้น จากนั้นจะต้องส่งเรื่องทั้งหมดไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับคดีนี้โดยตรง คือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ขั้นตอนขณะนี้เพียงแค่ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมเท่านั้น
จากนั้นจะต้องส่งไปให้แก่ ป.ป.ท.ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ สำหรับผู้ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษที่เป็นพลเรือน ก็จะต้องส่งเรื่องให้แก่ ป.ป.ท.เช่นกัน เพราะทั้งหมดอยู่ในขบวนการเดียวกันกับข้าราชการที่ถูกร้องทุกข์